Your browser doesn’t support HTML5
รายงานประจำปีของกองทุนประชากรสหประชาชาติ (UNFPA) ชี้ว่ามีหลายประเทศที่ยังมองว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ไม่มีความสำคัญ หรือเป็นภาระ ซึ่งทำให้ประเทศเหล่านั้นยังพัฒนาไม่ทันประเทศอื่นๆ รายงานชิ้นนี้ระบุว่า ประเทศที่ลงทุนมากมายในด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะและสุขภาพของเยาวชน ซึ่งรวมถึงสุขภาพความแข็งแรงในการผลิตประชากรรุ่นต่อๆ ไป จะได้รับผลตอบแทนมหาศาลจากการลงทุนดังกล่าว
UNFPA ระบุว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นกลุ่มประชากรที่มีจำนวนมากมาย คาดว่าปัจจุบันประชากรที่อยู่ในวัยระหว่าง 10-24 ปี มีอยู่ประมาณ 1,800 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งมากที่สุดเป็นสถิติใหม่ และประชากรกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่สามารถช่วยให้ประชากรโลกที่ยากจนหลายร้อยล้านคนหลุดพ้นจากความยากจนได้ หากรัฐบาลประเทศต่างๆ จัดหางานที่เหมาะสม รวมทั้งให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาทักษะฝีมือให้กับคนรุ่นใหม่
คุณ Alanna Armitage ผอ.ของ UNFPA ที่นครเจนีวา กล่าวว่าแนวคิดนี้ไม่ใช่เพียงทฤษฎี แต่ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกหลายประเทศได้เริ่มลงทุนในเยาวชนมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960
เมื่อเร็วๆ นี้ นิตยสาร Nature รายงานว่าประเทศในแถบเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสิงคโปร์ ได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่มีการลงทุนในด้านวิทยาศาสตร์สำหรับคนรุ่นใหม่มากเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียเหล่านั้นอย่างมาก
คุณ Alanna Armitage แห่ง UNFPA ชี้ว่าการลงทุนในคนรุ่นใหม่ให้ผลตอบแทนมหาศาล เช่นช่วยเพิ่มผลผลิตมวลรวมหรือ GDP และเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อหัวของบางประเทศ เธอกล่าวว่าหากประเทศในแถบทางใต้ของทะเลทรายซะฮาร่าในแอฟริกา นำประสบการณ์การลงทุนในเยาวชนแบบเดียวกับประเทศทางเอเชียตะวันออกมาปรับใช้ ให้เข้ากับสภาพการณ์ในประเทศตนเอง ก็อาจประสบกับปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจเหมือนที่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้ผ่านมาแล้ว นั่นคือการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 500,000 ล้านดอลล่าร์ในแต่ละปีเป็นเวลาถึง 30 ปี
อย่างไรก็ดี คุณ Alanna Armitage บอกว่าน่าเสียดายที่หลายประเทศมิได้เชื่อมั่นในเรื่องนี้ และมิได้ลงทุนในเยาวชนอย่างเพียงพอจนถึงขั้นสร้างความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้
ผอ.ของ UNFPA ยังบอกด้วยว่าเวลานี้ 90% ของเยาวชนทั่วโลก 1,800 ล้านคน ยังอยู่ในประเทศยากจนและยังขาดแคลนการลงทุนด้านการศึกษา สาธารณสุข และขาดความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน แต่ละปีมีเยาวชนทั่วโลกประมาณ 120 ล้านคนเดินเข้าสู่ตลาดแรงงาน แต่รายงานของ UNFPA ได้ชี้ให้เห็นว่าเยาวชนราว 40% ทั่วโลกยังคงตกงาน นอกจากนั้นยังประสบกับปัญหาอีกหลายอย่าง เช่นการเลือกปฏิบัติ ความไม่เท่าเทียม รวมทั้งการกีดกันทางเพศ
รายงานประจำปีของกองทุนประชากรสหประชาชาติสรุปส่งท้ายด้วยคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพของคนรุ่นใหม่ เช่นการเพิ่มโอกาสด้านการจ้างงานและเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ๆมากขึ้น
รายงานจาก Lisa Schlein - ห้องข่าว VOA / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล