กต.สหรัฐฯ แถลง "สหรัฐฯ กังวลอย่างลึกซึ้งต่อคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไทย"

  • VOA

โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เเมตธิว มิลเลอร์

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ผ่านสำนักโฆษก วันที่ 7 ส.ค. ที่ระบุว่า "สหรัฐฯกังวลอย่างลึกซึ้งต่อคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไทยที่สั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิทางการเมืองต่อเเกนนำพรรค 11 คน คำตัดสินนี้พรากสิทธิของคนไทยกว่า 14 ล้านคนที่เลือกพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคมปี 2566 และก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการมีตัวเเทนสะท้อนเจตนารมณ์ของคนเหล่านั้นภายในระบบเลือกตั้งของไทย"

ในเเถลงการณ์ฉบับนี้ โฆษกของกระทรวงฯ เเมตธิว มิลเลอร์ กล่าวว่า "การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญยังเป็นอันตรายต่อพัฒนาการทางประชาธิปไตยของไทยด้วย และยังขัดกับความมุ่งหมายของประชาชนชาวไทยที่อยากเห็นอนาคตที่เเข็งเเกร่งและเป็นประชาธิปไตย"

US State Department's statement on Thailand's Constitutional Court ruling dissolving Move Forward Party

"การมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ไม่ละทิ้งคนกลุ่มใดจะส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคมและเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งต่อสถาบันต่าง ๆ ของชาติที่จะสามารถฟื้นตัวจากอุปสรรคต่าง ๆ ได้ดี" มิลเลอร์ระบุ

เขากล่าวทิ้งท้ายว่า "สหรัฐฯ ไม่ได้มีจุดยืนสนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่ในฐานะพันธมิตรและเพื่อนที่ใกล้ชิดซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและคงทนยาวนาน เราขอเรียกร้องให้ประเทศไทยดำเนินการเพื่อยืนยันให้เกิดการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่ไม่ละทิ้งคนกลุ่มใดอย่างสมบูรณ์ และปกป้องประชาธิปไตย รวมทั้งเสรีภาพของการรวมกลุ่มกันและการเเสดงออก"

สหภาพยุโรป (อียู) แสดงความเห็นเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญไทยในการยุบพรรคก้าวไกลเช่นกัน โดยระบุในแถลงการณ์ว่า การสั่งยุบพรรคการเมืองหลักเช่นนี้เป็น “การก้าวถอยหลังของแนวคิดพหุนิยมทางการเมืองในประเทศไทย”

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า “ไม่มีระบอบประชาธิปไตยใดสามารถเดินหน้าได้ โดยปราศจากเสียงข้างมากของพรรคการเมืองและผู้ลงสมัคร(รับเลือกตั้ง) การกระทำใด ๆ ที่จะจำกัดการแสดงออกและการมีความเกี่ยวเนื่องอย่างเสรี โดยเฉพาะที่ผ่านทางกิจกรรมต่าง ๆ และการจัดตั้งพรรคการเมือง ต้องสอดคล้องกับกฎและหลักการของเครื่องมือสากลที่เกี่ยวข้อง อันรวมถึง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ด้วย

Your browser doesn’t support HTML5

กต.สหรัฐฯแถลงกังวลอย่างลึกซึ้งต่อคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล

และพร้อม ๆ กับการเรียกร้องให้หน่วยงานต่าง ๆ เคารพในระบบเลือกตั้งให้ผู้แทนที่ได้รับเสียงสนับสนุนของประชาชนเข้ามาอย่างถูกต้องได้ทำหน้าที่ของตนในรัฐสภา อียูยืนยันว่าจะเดินหน้าขยายการมีส่วนร่วมกับประเทศไทยภายใต้ความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทย ที่ทั้งสองลงนามไว้เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ปี 2565 ที่รวมความถึงประเด็นประชาธิปไตยแบบพหุนิยม เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และสิทธิมนุษยชน ด้วย

แถลงการณ์จากโฆษกกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาของสหราชอาณาจักร เกี่ยวกับคำตัดสินยุบพรรคก้าวไกล

นอกจากนั้น อังกฤษเป็นอีกประเทศที่ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทย โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนาของสหราชอาณาจักรกล่าวว่า “พหุนิยมทางการเมืองและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย การยุบพรรคการเมืองใหญ่อีกหนึ่งพรรคเป็นการทำให้หลักการนี้เสื่อมถอยลง สหราชอาณาจักรเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดถือสิทธิและการมีตัวแทนในระบอบประชาธิปไตย

วุฒิสมาชิกเบน คาร์ดิน ประธานคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศวุฒิสภาสหรัฐฯ

ส่วนวุฒิสมาชิกเบน คาร์ดิน ประธานคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศวุฒิสภาสหรัฐฯ เผยแพร่แถลงการณ์มีเนื้อหาว่า “คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไทยเพื่อยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิ์ผู้นำอาวุโสของพรรคไม่ให้ทำงานในรัฐบาลเป็นเวลา 10 ปี เป็นการสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อระบอบประชาธิปไตยของไทย

สว.คาร์ดินชี้ว่า คำสั่งศาลในครั้งนี้เป็นเหมือนการปิดปากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 14 ล้านคนที่ลงเสียงสนับสนุนพรรคก้าวไกล หลังประชาคมโลกที่เฝ้าดูสถานการณ์ด้วยความรู้สึกกังวลหนักตั้งแต่เมื่อวุฒิสภาไทยที่แต่งตั้งโดยกองทัพมีมติไม่ให้พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ขณะที่ คณะกรรมการการเลือกตั้งไทยที่สนิทสนมกับกองทัพเดินเรื่องต่อศาลให้มีการยุบพรรคการเมืองนี้โดย “ขาดซึ่งกระบวนการทางกฎหมายและความโปร่งใสตั้งแต่ต้น

ประธานคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศวุฒิสภาสหรัฐฯ ระบุว่า “การยุบพรรคก้าวไกลทำให้เกิดคำถามต่อความมุ่งมั่นในการเคารพสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมของไทย” พร้อมร้องขอให้มีการยกเลิกคำสั่งยุบพรรคและตัดสิทธิ์ผู้บริหารพรรคเพื่อให้ประเทศไทยกลับคืนสู่เส้นทางการจัดตั้งรัฐบาลที่ประชาธิปไตย โปร่งใสและมีความรับผิดรับชอบ

ท้ายสุด สว.คาร์ดินกล่าวว่า “สภาคองเกรสจะคอยประเมินดูว่าพัฒนาการล่าสุดต่าง ๆ ในไทยนั้นจะกระทบความเป็นหุ้นส่วนในระดับทวิภาคีของสหรัฐฯ และไทยเพียงใด” ต่อไป

ทั้งนี้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันพุธที่ให้ยุบพรรคก้าวไกล ศาลระบุว่า "แม้นักวิชาการสาขาต่างๆ นักการเมือง หรือนักการทูตของต่างประเทศต่างก็มีรัฐธรรมนูญ และกฎหมายภายในประเทศ รวมทั้งข้อกำหนดของตนที่แตกต่างกัน ตามบริบทของแต่ละประเทศ การแสดงความเห็นใดๆย่อมต้องมีมารยาททางการทูต"

วีโอเอไทยติดต่อไปยังกระทรวงต่างประเทศของไทยเพื่อขอความเห็นในเรื่องนี้เเต่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับจากทีมโฆษกของกระทรวง

  • ที่มา: วีโอเอ