ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญลงมติ 5 ต่อ 4 ให้นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งในวันพุธ ผู้สื่อข่าววีโอเอสอบถามความเห็นเรื่องนี้ต่อกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน ซึ่งติดตามการเมืองไทยอย่างใกล้ชิดตั้งเเต่สัปดาห์ที่แล้ว ที่พรรคก้าวไกลโดยศาลสั่งยุบเมื่อวันที่ 7 ส.ค.
เวแดนท์ แพเทล รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในการแถลงข่าวในวันพุธว่า "เรา (สหรัฐฯ) รับทราบถึงคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญไทยให้ปลดนายกรัฐมนตรีของไทยและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะแล้ว เรารอคอยไม่เพียงแต่การเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนผ่านอำนาจที่ราบรื่นด้วย เรายังคงยึดมั่นในการเป็นพันธมิตรระหว่างไทยและสหรัฐฯ โดยไม่เปลี่ยนแปลง"
รองโฆษกของกระทรวงฯ กล่าวด้วยว่า "สหรัฐฯ และไทยมีประวัติศาสตร์ร่วมกัน มีผลประโยชน์ร่วมกันและมีค่านิยมร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เราเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อสิ่งที่ดีต่อทั้งสองประเทศ"
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวย้ำว่า ทางการอเมริกันไม่ได้มีจุดยืนสนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือนักการเมืองคนใด
กระทรวงฯ ยังคงใช้ถ้อยคำคล้ายเดิมกับการออกเเถลงการณ์กรณีพรรคก้าวไกลถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ โดยระบุในครั้งนี้ว่า "ในฐานะที่เป็นพันธมิตรและเพื่อน ที่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งยาวนาน เราขอเรียกร้องให้ประเทศไทยดำเนินการเพื่อให้เเน่ใจว่าเกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและการเมืองที่ไม่ละทิ้งคนกลุ่มใด รวมถึงระบบกฎหมายที่เป็นธรรม และปกป้องประชาธิปไตย ตลอดจนเสรีภาพพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการรวมกลุ่มกันและการเเสดงออก"
ทั้งนี้ เลขาธิการสภาผู้เเทนราษฎร อาพัทธ์ สุจะนันท์ ระบุในจดหมาย "ด่วนที่สุด" ลงวันที่ 14 ส.ค. ว่าจะมีการประชุมในวันศุกร์ที่ 16 ส.ค. เพื่อให้สภาผู้เเทนฯ "พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี" ตั้งเเต่เวลา 10 นาฬิกาเป็นต้นไป
- ที่มา: วีโอเอ