ตำรวจเกาหลีใต้กำลังพิจารณาเดินหน้าฟ้องคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 33 คน ในข้อหาฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา และไม่ไตร่ตรองไว้ก่อน รวมทั้งประมาทเลินเล่อ ที่นำไปสู่การขาดมาตรการรองรับเพื่อรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ย่านอิแทวอนของกรุงโซลเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 160 คน
รายงานข่าวระบุว่า ก่อนเกิดเหตุโศกนาฏกรรมเทศกาลฮาโลวีนที่ย่านอิแทวอนนั้น มีการคาดการณ์ไว้แล้วว่า จะมีประชาชนหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่นี้กว่า 100,000 คน แต่กรมตำรวจกรุงโซลส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 137 นายเข้ามาดูแลพื้นที่ โดยมีหน้าที่หลักคือ การสอดส่องดูแลการใช้ยาเสพติดและเหตุอาชญกรรมรุนแรง แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า จำนวนเจ้าหน้าที่เพียงเท่านั้นไม่ได้มีมากพอจะมาดูแลด้านความปลอดภัยของคนเดินเท้า
ซอน เจ-ฮาน ซึ่งนำทีมสอบสวนพิเศษคดีนี้ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกาหลีใต้ กล่าวในวันศุกร์ว่า ทีมงานของตนจะส่งคดีไปยังอัยการ พร้อมคำแนะนำให้มีการสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่หลายรายที่เกี่ยวข้องกับเหตุโศกนาฏกรรมนี้ ซึ่งรวมถึง ปาร์ค ฮี-ยัง นายกเทศมนตรีเขตยองซานของกรุงโซล และลี อิม-แจ อดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจของเขตเดียวกันนี้ โดยทั้งคู่ได้ถูกจับกุมพร้อมเจ้าหน้าที่รัฐรายอื่นอีก 4 คนไปก่อนหน้านี้แล้ว
ลี ถูกกล่าวหาว่า ปลอมแปลงรายงานตำรวจเพื่อปิดบังความจริงว่า ตนมาถึงที่เกิดเหตุสาย ขณะที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 2 นายถูกจับกุมในข้อหาพยายามทำลายไฟล์คอมพิวเตอร์และสิ่งที่อาจเป็นหลักฐานอื่น ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
รายละเอียดของรายงานการสอบสวนโดย ซอน เจ-ฮาน ที่ใช้เวลารวบรวมถึง 74 วัน ยืนยันสิ่งที่หลายคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า ตำรวจและเจ้าหน้าที่เขตยองซานไม่ดำเนินมาตรการควบคุมฝูงชนที่มีประสิทธิภาพเพื่อรับกับจำนวนนักท่องเที่ยวเทศกาลฮาโลวีนที่คาดกันไว้ก่อนแล้วว่าจะมีจำนวนมาก และยังไม่สนใจเสียงของผู้คนที่โทรเข้ามาทางสายด่วนของตำรวจและเตือนว่า จำนวนประชาชนพุ่งสูงอย่างมากก่อนที่จะเกิดเหตุโศกนาฏกรรมในคืนวันที่ 28 ตุลาคม
อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครบอกได้ว่า รายงานดังกล่าวที่รวบรวมปากคำของพยานเกือบ 540 คนและจากหลักฐาน 14,000 ชิ้น รวมทั้งคลิปวิดีโอจากกล้องวงจรปิด ผู้สื่อข่าว และคนเดินถนน และการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุโดยผู้เชี่ยวชาญ จะทำให้ประชาชนที่โกรธแค้นและเรียกร้องให้รัฐบาลออกมารับผิดชอบสงบลงบ้างเพียงใด
SEE ALSO: เกาหลีใต้ประกาศเพิ่มมาตรการบรรเทาความเดือดดาลจากโศกนาฏกรรม 'อิแทวอน'
ทั้งนี้ นักการเมืองฝ่ายค้านและญาติของเหยื่อบางรายเรียกร้องให้มีการสอบสวนบุคคลผู้มีชื่อเสียง เช่น ลี ซัง-มิน รัฐมนตรีมหาดไทยและความปลอดภัย และ ยูน ฮี-คึน ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ถูกกดดันให้ลาออกอยู่ด้วย
แต่ ซอน เจ-ฮาน กล่าวว่า ทีมสอบสวนพิเศษจะยุติการสืบสวนของกระทรวงมหาดไทยและความปลอดภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรัฐบาลกรุงโซล เนื่องจากไม่สามารถระบุว่า หน่วยงานเหล่านี้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร
- ที่มา: เอพี