Your browser doesn’t support HTML5
หลังจากที่ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศที่กรุงเฮก มีคำวินิจฉัยปฏิเสธการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนเหนือพื้นที่เกือบสามล้านห้าแสนตารางกิโลเมตรในทะเลจีนใต้ กองทัพจีนได้แสดงท่าทีอย่างแข็งกร้าวมากขึ้น
โดยผู้บัญชาการกองทัพเรือของจีน กล่าวว่า จีนพร้อมจะตอบโต้การคุกคามใดๆ ในทะเลจีนใต้ และการก่อสร้างต่างๆ รอบหมู่เกาะ Spratly จะดำเนินต่อไป รวมทั้งความพยายามใดๆ ที่จะบีบบังคับให้จีนยอมรับแรงกดดันก็จะไม่เป็นผลดี
ส่วนกองทัพอากาศของจีนก็ยืนยันว่า มีการบินซ้อมรบเหนือแนวสันทราย Scarborough Shoal ซึ่งจะเป็นเรื่องปกติต่อไปในอนาคต ทางด้านกองทัพเรือของจีนก็เตือนว่า การส่งเรือออกลาดตระเวนโดยกองทัพต่างประเทศในน่านน้ำซึ่งเป็นกรณีพิพาทนี้อาจนำไปสู่หายนะได้
อย่างไรก็ตาม ผู้บัญชาการกองทัพเรือของจีนได้กล่าวยกย่องการเยือนโดยผู้บัญชาการกองทัพเรือของสหรัฐฯ และว่าการเยือนดังกล่าวแสดงว่าประเทศทั้งสองเข้าใจถึงความจำเป็น ของการส่งเสริมการสื่อสารทำความเข้าใจเพื่อลดโอกาสความเสี่ยงของการประจันหน้ากัน
อาจารย์ Shao Jianping แห่งมหาวิทยาลัย Honghe มองว่า จีนกำลังพยายามใช้ท่าทีหรือมาตรการทั้งไม้แข็งและไม้นวม
แต่อาจารย์ Wu Fei จากมหาวิทยาลัย Jinan กลับไม่เห็นด้วย และเชื่อว่าการแสดงท่าทีอย่างแข็งกร้าวนี้สะท้อนให้เห็นว่า จีนเองยังไม่มียุทธศาสตร์ที่แน่นอนในเรื่องนี้
ส่วนคุณ Tim Johnston ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของ Crisis Group ให้ความเห็นว่า ท่าทีที่แข็งกร้าวของจีนนี้ มีเหตุผลผลักดันจากการเมืองในประเทศอยู่ด้วย เพราะนโยบายปราบคอรัปชั่นและการปฏิรูปเศรษฐกิจของผู้นำจีน มีผลกระทบต่อหลายกลุ่มในประเทศ ดังนั้นผู้นำจีนจึงต้องพยายามรักษากลุ่มชาตินิยมไว้เป็นพันธมิตร โดยอาศัยการแสดงท่าทีอย่างแข็งขันเกี่ยวกับอธิปไตยในทะเลจีนใต้นั่นเอง
นักวิเคราะห์ของ Crisis Group เชื่อว่า แม้คำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งปฏิเสธคำกล่าวอ้างของจีนเรื่องอำนาจอธิปไตยในทะเลจีนใต้ จะช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับการต่อสู้ของประเทศที่เป็นคู่พิพาทของจีนก็ตาม
แต่กรณีพิพาทในทะเลจีนใต้นี้ก็เหมือนกับปัญหาการเมืองและประเด็นทางการทูตอื่นๆ ซึ่งความสำเร็จในการแก้ปัญหา มักจะขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นและการผ่อนปรนเป็นสำคัญ