Your browser doesn’t support HTML5
ช่วง 6 เดือนแรกที่ ปธน. ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่ง ดูเหมือนแทบไม่มีการเผชิญหน้ากันในทะเลจีนใต้ซึ่งหลายประเทศกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ ถึงกระนั้น นักวิเคราะห์ชี้ว่าการที่ไม่มีรายงานเรื่องข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ปรากฏสู่สาธารณชน มิได้หมายความว่าความขัดแย้งเรื่องนี้ได้บรรเทาเบาบางหรือจางหายไป
วุฒิสมาชิกอเมริกัน คอร์รี่ย์ การ์ดเนอร์ ประธานคณะกรรมาธิการย่อยฝ่ายกิจการเอเชียแปซิฟิก ของวุฒิสภาสหรัฐฯ กล่าวต่อที่ประชุมประจำปีครั้งที่ 7 ว่าด้วยเรื่องทะเลจีนใต้ ในกรุงวอชิงตัน เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การสั่งสมกำลังทหารของจีนในบริเวณทะเลจีนใต้นั้นเกิดขึ้นจริง และสถานการณ์ก็ยังคงเข้าขั้น “วิกฤติ”
วุฒิสมาชิกการ์ดเนอร์ยังระบุด้วยว่า การขยายอำนาจทางทะเลของจีนในทะเลจีนใต้ถือเป็นบททดสอบสำคัญของผู้นำสหรัฐฯ
แม้สหรัฐฯ จะไม่ใช่ประเทศที่กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ดังเช่นหลายประเทศในเอเชีย แต่ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้ยืนยันสิทธิ์และเสรีภาพในการเดินเรือในบริเวณนั้น และได้ส่งเรือรบ เรือลาดตระเวน และเครื่องบิน เดินทางผ่านแนวเขตที่หลายประเทศกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลปักกิ่ง
คุณบอนนี่ แกลซเซอร์ แห่ง Center for Strategic and International Studies กล่าวต่อที่ประชุมว่า รวมเวลาที่เรือรบของสหรัฐฯ ออกปฏิบัติการในทะเลจีนใต้ในปีนี้เกือบ 900 วันแล้ว ซึ่งเพิ่มจากระดับ 700 วันเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ยังมิได้คลี่คลายลงอย่างที่คิดกัน
นักวิเคราะห์เชื่อว่าสาเหตุที่หลายประเทศต่างให้ความสนใจในบริเวณทะเลจีนใต้ เป็นเพราะพื้นที่นี้คือเส้นทางเดินเรือสินค้าสำคัญของโลก และอาจมีทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ซ่อนตัวอยู่
คุณอเล็กซานเดอร์ วูวิ่ง แห่งศูนย์ศึกษาด้านความมั่นคงแถบ Asia – Pacific ที่รัฐฮาวายของสหรัฐฯ หนึ่งในนักวิเคราะห์ที่ร่วมการประชุมประจำปีครั้งนี้ เปรียบเทียบเส้นทางเดินเรือในทะเลจีนใต้ว่าเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของเอเชีย ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจและการทหารของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้
นักวิเคราะห์ผู้นี้ยังกล่าวด้วยว่า “ประเทศใดครอบครองทะเลจีนใต้ สามารถครอบครองเอเชียตะวันออก และประเทศใดครอบครองเอเชียตะวันออก สามารถครอบครองโลกได้”
คุณอเล็กซานเดอร์ วูวิ่ง เชื่อว่าสหรัฐฯ ควรต้องยับยั้งการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้ ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการจัดสรรอำนาจอย่างสันติในหมู่ประเทศที่มีผลประโยชน์ในทะเลจีนใต้
ด้านคุณอีลาย แรทเนอร์ แห่ง Council on Foreign Relations และอดีตผู้ทำงานในรัฐบาลประธานาธิบดีโอบาม่า กล่าวว่า รัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ควรใช้แนวทางที่แข็งกร้าวในเรื่องนี้ โดยเฉพะการป้องปรามจีนไม่ให้แผ่ขยายอำนาจทางทหาร ซึ่งการที่จะทำเช่นนั้นได้ รัฐบาลสหรัฐฯ จำเป็นต้องแบกรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้นโยบายที่ไม่เป็นมิตรกับจีนด้วย
นักวิเคราะห์ผู้นี้ยังเชื่อด้วยว่า ในที่สุดแล้วจีนไม่น่าจะต้องการเผชิญหน้าทางทหารกับสหรัฐฯ เหมือนกับท่าทีที่จีนพยายามแสดงออกมา
ส่วนคุณซู เฉิน นักวิชาการแห่ง Institute for International Studies ในนครเซี่ยงไฮ้ ชี้ว่า อดีตผู้นำจีน เติ้ง เสี่ยวผิง เคยกล่าวไว้ว่า ปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนและแก้ไขได้ยาก และได้เสนอให้จัดตั้งเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกันระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องขึ้นมาแทน
ซึ่งนักวิจัยผู้นี้บอกว่า ปัจจุบันบรรดาผู้นำในรัฐบาลจีนก็กำลังถกเถียงถึงทางออกดังกล่าวอย่างจริงจังเช่นกัน
(ผู้สื่อข่าว Natalie Liu รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)