ควันจาก 'ไฟป่า' อาจมีผลต่อสุขภาพในระยะยาว

Your browser doesn’t support HTML5

Bushfires Health

ไฟป่าที่รุนแรงขึ้นทุกปีในออสเตรเลียและทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ เพิ่มความวิตกกังวลแก่ผู้คนทั่วโลกเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อสุขภาพในระยะยาวจากการสูดดมควันจากไฟป่า

เคลซีย์ นอร์ตัน (Kelsey Norton) พยาบาลวัย 30 ปี สูญเสียบ้านของเธอไปในไฟป่าที่เผาไหม้ใกล้เมืองพาราไดซ์ รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อปีที่แล้ว เปลวไฟจากไฟป่าที่อยู่รอบ ๆ และจากบ้านเรือนนับพันหลังที่ถูกไฟเผา ทำให้มีกลุ่มควันหนาทึบปกคลุมบริเวณนั้นเป็นเวลาหลายสัปดาห์ จนทำให้หายใจไม่สะดวก

คุณนอร์ตันต้องต่อสู้กับอาการติดเชื้อทางเดินหายใจซึ่งทำให้ร่างกายอ่อนแอลง การทำงานกลายเป็นเรื่องยาก จนทำให้เธอกังวลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่อาจจะตามมาในอนาคต เธอกล่าวกับผู้สื่อข่าว Associated Press ว่าเธอไม่ต้องการเป็นมะเร็งในช่วงวัย เพียง 50 ปี เพียงเพราะสูดดมควันไฟเข้าไปในช่วงอายุ 30 ปี

Boats are pulled ashore as smoke and wildfires rage behind Lake Conjola, Australia, Thursday, Jan. 2, 2020.

ผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะสั้นจากไฟป่านั้นเป็นที่ประจักษ์กันดี แต่มีเพียงไม่กี่คนที่ทราบเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวของการสูดดมควันไฟที่มีความรุนแรง

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศทำให้บางส่วนของโลกแห้งขึ้นและสภาพแวดล้อมที่แห้งนั้นมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดไฟไหม้ป่ามากขึ้น ไฟที่ลุกลามจะส่งกลุ่มควันซึ่งสามารถเดินทางได้ระยะทางหลายพันกิโลเมตร ส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายล้านคน

ไฟป่าที่ลุกไหม้ทั่วประเทศออสเตรเลียตั้งแต่เดือนกันยายน ทำให้กลุ่มควันไฟได้แผ่กระจายไปทั่วพื้นที่กว่า 20 ล้านตารางกิโลเมตร หน่วยงานด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติและผู้ให้บริการตรวจสอบบรรยากาศ Copernicus Atmospheric Monitoring Service รายงานว่า กลุ่มควันได้เคลื่อนไปทั่วมหาสมุทรแปซิฟิก ไปจนถึงอเมริกาใต้

Firefighters battle a wildfire called the Kincade Fire on Chalk Hill Road in Healdsburg, Calif., Sunday, Oct. 27, 2019.

ไฟป่าในออสเตรเลียได้เผาทำลายบ้านเรือนไปกว่า 2,000 หลัง และคร่าชีวิตผู้คนอย่างน้อย 26 ราย เจ้าหน้าที่ได้สั่งให้มีการอพยพหลายครั้งในรัฐนิวเซาธ์เวลล์และรัฐวิคตอเรีย ทั้งสองรัฐได้ประกาศเตือนเรื่องคุณภาพอากาศที่เป็นอันตรายในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ขณะที่เจ้าหน้าที่กล่าวว่า ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพควรจะพิจารณาย้ายไปอยู่ที่อื่นสักระยะจนกว่าควันไฟจะหมดไป

ทุก ๆ ปีมีผู้คนในสหรัฐฯ ราว 20,000 คนเสียชีวิตเร็วกว่าที่คาดคิดเนื่องจากการสูดดมควันไฟอย่างต่อเนื่อง นักวิทยาศาสตร์คาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มเป็นสองเท่าในอีก 100 ปีข้างหน้า

ศูนย์วิจัย The California National Primate Research Center กำลังทำการศึกษาเรื่องปัญหาสุขภาพในระยะยาวจากการสูดดมควันจากไฟป่า โดยศึกษาผลกระทบของควันไฟที่มีต่อลิง

SEE ALSO: สารเคมีชนิดใหม่สามารถป้องกันการเริ่มต้นและแพร่กระจายของไฟป่า

ในการศึกษานี้ นักวิจัยศึกษาปอดของลิงจำพวก ลิงวอก (rhesus monkey) จำนวน 50 ตัว ซึ่งลิงเหล่านี้อาศัยอยู่ในคอกกลางแจ้งตลอดทั้งปี นักวิจัยพบว่าในปี พ.ศ. 2551 ลูกลิงเหล่านั้นสูดดมควันจากไฟป่าเป็นเวลานาน ทำให้ปอดมีขนาดเล็กกว่าลิงกลุ่มอื่นที่เกิดหนึ่งปีให้หลังราว 20%

รัฐบาลรัฐนิวเซาท์เวลส์เตือนประชาชนถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพจากไฟไหมป่า ซึ่งมีตั้งแต่อาการเบื้องต้นเช่น คันหรือแสบตา น้ำมูกไหล ไปจนถึงหายใจไม่สะดวก ปวดศีรษะ ระคายคอ และไอ ไปจนถึงอาการบาดเจ็บที่เกิดจากไฟลวก

ส่วนหน่วยงานควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ หรือ ซีดีซี (U.S. Center for Disease Control and Prevention) ระบุว่า ควันจากไฟป่านั้นมีส่วนประกอบที่มีผลต่อสุขภาพมากมาย ที่ทำให้คุณภาพอากาศด้อยลง ขณะที่การสูดควันเข้าไปสามารถส่งผลเสียต่อระบบการหายใจและโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งนำไปสู่ความต้องการทางแพทย์ฉุกเฉิน และการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยที่ต้องการยาเพื่อรักษาอาการหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบ อาการเจ็บหน้าอก โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ และโรคปอด

ในระยะยาวนั้น แม้ยังไม่มีเอกสารทางการแพทย์ใดๆ สรุปอย่างเป็นทางการ มีรายงานว่า การต้องอยู่กับควันของไฟป่าเป็นเวลานาน อย่างกรณีของคนที่อาศัยอยู่ในกรุงปักกิ่ง และกรุงนิวเดลี ที่ปัญหาคุณภาพอากาศในระดับที่ไม่ปลอดภัยมาเป็นเวลานาน น่าจะทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคปอด โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาการติดเชื้อในกระแสเลือด และโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ

คุณไมเคิล ไคลน์แมน (Michael Kleinman) นักวิจัยเรื่องผลกระทบของมลพิษทางอากาศที่มีต่อสุขภาพ และศาสตราจารย์ด้านพิษวิทยาที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเออร์ไวน์ กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงยังชื้ให้เห็นว่า อัตราการเป็นมะเร็งปอดและการเสียชีวิตจากโรคหัวใจในหมู่นักดับเพลิงที่ผจญไฟป่าสูงขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด

ผู้เชี่ยวชาญยังกล่าวด้วยว่า ไฟป่าในออสเตรเลียและทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ได้เผาผลาญต้นไม้ บ้านเรือนและสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ หลายพันแห่งจนมอดเป็นเถ้าถ่าน ซึ่งควันจากการเผาไหม้เหล่านี้ล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ

ตัวอย่างเช่น วัสดุก่อสร้างและของใช้ในครัวเรือนที่ทำจากพลาสติก เวลาถูกไฟเผาจะร้อนกว่าและทำให้เกิดควันที่มีพิษมากยิ่งขึ้น และนั่นหมายถึงอันตรายที่เพิ่มขึ้นต่อสุขภาพของคนเราจากการสูดดมควันไฟเหล่านั้นเช่นกัน