ลุล่วง! ดาวเคราะห์น้อยที่ถูกยานสำรวจนาซ่าชนเปลี่ยนวงโคจรแล้ว

Illustration of NASA's DART spacecraft prior to impact at the Didymos binary asteroid system

ยานสำรวจขององค์การอวกาศสหรัฐฯ หรือ นาซ่า (NASA) ปฏิบัติภารกิจลุล่วง เมื่อสามารถเปลี่ยนวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ห่างออกไปหลายล้านไมล์ได้สำเร็จ ในโครงการทดสอบเพื่อ "ปกป้องโลก"

การพุ่งชนครั้งนี้เกิดขึ้นห่างจากโลกประมาณ 9.6 ล้านกิโลเมตร โดยยานสำรวจที่มีชื่อว่า Dart (Double Asteroid Redirection Test) ซึ่งเดินทางออกจากโลกเมื่อปีที่แล้ว พุ่งชนดาวเคราะห์น้อยที่มีชื่อว่า ไดมอร์ฟอส (Dimorphos) เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ด้วยความเร็ว 22,500 กม./ชม.

องค์การนาซ่าเปิดเผยความสำเร็จในวันอังคาร โดยระบุว่า ยานสำรวจ ดาร์ท (Dart) สามารถสร้างหลุมลึกบนดาวเคราะห์น้อย ไดมอร์ฟอส ได้หลังการพุ่งชนเมื่อวันที่ 26 กันยายน ทำให้เกิดฝุ่นในอวกาศคล้ายดาวหางเป็นทางยาวหลายพันกิโลเมตร และจากการติดตามเส้นทางการโคจรของดาวเคราะห์น้อยขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 160 เมตรดวงนี้ พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

โดยก่อนที่จะเกิดการพุ่งชน ไดมอร์ฟอส โคจรรอบดาวเคราะห์น้อยอีกดวงหนึ่งซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเป็นเวลาราว 12 ชม.ต่อหนึ่งรอบ แต่หลังจากพุ่งชนแล้ว เวลาการโคจรได้ลดลงไปราว 32 นาทีต่อหนึ่งรอบ

In this image, taken from a NASA live feed on Monday, September 26, 2022, the Dart spacecraft heads directly for asteroid Dimorph. (ASI/NASA via AP)

เจ้าหน้าที่นาซ่าระบุว่า "ภารกิจนี้แสดงให้เห็นว่า นาซ่าพยายามเตรียมพร้อมกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต" แม้ว่าในความเป็นจริง ดาวเคราะห์น้อยทั้งสองดวงที่ถูกชนจะมิได้สร้างความเสี่ยงใด ๆ ต่อโลกของเราก็ตาม

แนนซี ชาโบต์ นักดาราศาสตร์และหัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ที่ห้องทดลองของมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอพกินส์ ในรัฐแมรีแลนด์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการนี้ กล่าวว่า การทดลองครั้งนี้คือการเบี่ยงเบนทิศทางของดาวเคราะห์น้อย ไม่ใช่การขัดขวาง และไม่ใช่การระเบิดทำลายให้แตกกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เพราะเมื่อเทียบขนาดของยานสำรวจ Dart กับดาวเคราะห์น้อยแล้ว แทบไม่ต่างกับการขับรถกอล์ฟพุ่งชนพิรามิดขนาดใหญ่เลย

อย่างไรก็ตาม หากจะใช้วิธีนี้ในการปกป้องโลกจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย เราจำเป็นต้องทำในช่วง 5 ปี - 20 ปีก่อนที่ดาวเคราะห์น้อยนั้นจะเดินทางมาถึงโลกของเรา

  • ที่มา: เอพี