ยานสำรวจขององค์การอวกาศสหรัฐฯ หรือ นาซ่า พุ่งชนดาวเคราะห์น้อยด้วยความเร็วสูงในวันจันทร์ ในภารกิจทดสอบเปลี่ยนวงโคจรของดาวเคราะห์เพื่อเตรียมพร้อมในกรณีฉุกเฉิน เช่น ดาวเคราะห์น้อยพุ่งเฉียดโลกในอนาคต
การพุ่งชนครั้งนี้เกิดขึ้นห่างจากโลกประมาณ 9.6 ล้านกิโลเมตร โดยยานสำรวจที่มีชื่อว่า Dart (Double Asteroid Redirection Test) ซึ่งเดินทางออกจากโลกเมื่อปีที่แล้ว พุ่งชนดาวเคราะห์น้อยที่มีชื่อว่า Dimorphos ในวันจันทร์ ด้วยความเร็ว 22,500 กม./ชม.
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า แรงปะทะนั้นน่าจะทำให้เกิดหลุมขนาดใหญ่บน Dimorphos และอาจเปลี่ยนวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้
เอเลนา อดัมส์ เจ้าหน้าที่ควบคุมภารกิจครั้งนี้ ตะโกนดีใจหลังจากที่การพุ่งชนครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ขณะที่กล้องโทรทัศน์จากทั่วโลกและในวงโคจรโลกต่างติดตามการปะทะกันครั้งนี้อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ต้องใช้เวลาหลายวันหรืออาจหลายสัปดาห์กว่าที่จะรู้ว่าดาวเคราะห์น้อยที่ถูกชนเปลี่ยนวงโคจรได้จริงหรือไม่
ทั้งนี้ Dimorphos ซึ่งเป็นเป้าหมายของการพุ่งชนนี้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 160 เมตร อยู่ห่างจากโลกราว 9.6 ล้านกิโลเมตร และโคจรรอบดาวเคราะห์น้อยอีกดวงหนึ่งคือ Didymos ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า คือราว 780 เมตร
แนนซี ชาโบต์ นักดาราศาสตร์และหัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ที่ห้องทดลองของมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอพกินส์ ในรัฐแมรีแลนด์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการนี้ กล่าวว่า การทดลองครั้งนี้คือการเบี่ยงเบนทิศทางของดาวเคราะห์น้อย ไม่ใช่การขัดขวาง และไม่ใช่การระเบิดทำลายให้แตกกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เพราะเมื่อเทียบขนาดของยานสำรวจ Dart กับดาวเคราะห์น้อยแล้ว แทบไม่ต่างกับการขับรถกอล์ฟพุ่งชนพิรามิดขนาดใหญ่เลย
นักดาราศาสตร์ แนนซี ชาโบต์ กล่าวว่า หากภารกิจนี้ประสบความสำเร็จ Dimorphos จะมีวงโคจรแคบลงเล็กน้อย แต่ก็อาจจะมีความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น หากจะใช้วิธีนี้ในการปกป้องโลกจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อย เราจำเป็นต้องทำในช่วง 5 ปี - 20 ปีก่อนที่ดาวเคราะห์น้อยนั้นจะเดินทางมาถึงโลกของเรา
แนวคิดเรื่องการใช้จรวดพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยที่อาจคุกคามโลกนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่องค์การอวกาศของหลายประเทศได้ทำการศึกษามานานหลายสิบปีแล้ว และมีการส่งยานสำรวจหลายลำไปเก็บตัวอย่างพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยต่าง ๆ เพื่อนำวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง