Your browser doesn’t support HTML5
Wall Street Journal ตีพิมพ์รายงานระบุว่า การได้นอนหลับพักผ่อนคืนละ 7 ชม.ให้ผลดีที่สุด ขัดแย้งกับความเชื่อของหลายคนที่คิดว่าตัวเลข 8 ชม.คือตัวเลขที่เหมาะสมที่สุด
ศาสตราจารย์ Shawn Youngstedt แห่ง College of Nursing and Health Innovation ที่มหาวิทยาลัย Arizona State ระบุว่าจากการเก็บรวบรวมข้อมูล พบว่าคนที่นอนวันละ 7 ชม.มีอัตราการเสียชีวิตและอัตราเจ็บป่วยน้อยที่สุด ส่วนคนที่นอนวันละ 8 ชม.มีโอกาสเกิดโรคต่างๆมากกว่า ซึ่งสอดคล้องกับรายงานบางชิ้นก่อนหน้านี้ว่า การนอนมากเกินไปทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคอ้วน มากขึ้น
รายงานของศาสตราจารย์ Daniel Kripke แห่ง University of California San Diego เมื่อ 10 ปีก่อน รวบรวมข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง 1 ล้านคนเป็นเวลา 6 ปี พบว่าคนที่นอนวันละ 6.5 - 7.4 ชม.มีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าคนที่นอนน้อยกว่าหรือมากกว่านั้น และเมื่อปี ค.ศ 2011 ศาสตราจารย์ Daniel Kripke ได้ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่แคบลง คือสตรีสูงวัยราว 450 คน พบว่าสตรีที่นอนน้อยกว่า 5 ชม.ต่อคืน หรือมากกว่า 6.5 ชม.ต่อคืน มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า
แต่ผู้วิจารณ์บางคนชี้ว่า อาจมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลกระทบต่อผลการวิจัย เช่นปัจจัยด้านความเจ็บป่วย ซึ่งทำให้กลุ่มตัวอย่างใช้เวลานอนบนเตียงนอนนานกว่าคนทั่วไป
ส่วนรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Human Neuroscience เมื่อปีที่แล้ว ใช้วิธีทดสอบความจำของกลุ่มตัวอย่าง 160,000 คน พบว่าประสิทธิภาพการทำงานของสมองเราในด้านที่เกี่ยวกับการใช้ความคิด จะเพิ่มขึ้นตามจำนวน ชม.ที่นอน และจะถึงจุดสูงสุดที่ 7 ชม. จากนั้นจะลดลง หมายความว่าการนอนมากกว่าวันละ 7 ชม.จะไม่เพิ่มประสิทธิภาพของสมองในส่วนนี้
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าจำนวน ชม.ในการนอนของแต่ละคนนั้นเป็นเรื่องปัจเจก คือแต่ละคนมีความต้องการไม่เท่ากัน ซึ่งเราสามารถตรวจสอบเวลาที่เหมาะสมสำหรับเราได้ ด้วยการทดลองเข้านอนตอนที่ตนเองรู้สึกว่าเหนื่อยและต้องการพักผ่อนอย่างมาก โดยหลีกเลี่ยงกาแฟหรือแอลกอฮอล์ รวมทั้งหยุดใช้อุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ต่างๆ ก่อนเข้านอนหลาย ชม. เมื่อตื่นมาแล้วให้จดบันทึกว่าตนรู้สึกสดชื่นหรือนอนพอหรือไม่? ใช้เวลาไปกี่ ชม.? ทำแบบนี้ประมาณ 3-7 วันจะทำให้ทราบว่าเวลานอนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตนเองคือกี่ ชม.กันแน่
รายงานจาก Wall Street Journal / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล