นักวิจัยค้นพบเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่อีกหกชนิดในค้างคาวที่ประเทศเมียนมา ในขณะที่กำลังศึกษาว่าโรคร้ายนี้สามารถถ่ายทอดจากสัตว์สู่มนุษย์ได้อย่างไร
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า โคโรนาไวรัสทั้งหกชนิดที่พบในค้างคาวเมียนมานั้น ยังไม่เคยถูกค้นพบที่ไหนในโลก แต่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ที่กำลังส่งผลกระทบต่อหลายส่วนของโลกอยู่ในขณะนี้
การวิจัยดังกล่าวนำโดยนักวิทยาศาสตร์จากโครงการ Global Health ของ Smithsonian ในกรุงวอชิงตัน ผลการวิจัยนี้ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร PLOS ONE
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) กล่าวว่า โคโรนาไวรัสเป็นไวรัสสายพันธุ์ขนาดใหญ่ที่พบได้ทั่วไปในคนและสัตว์หลายชนิด และว่า เป็นเรื่องยากที่โคโรนาไวรัสในสัตว์จะถ่ายทอดไปสู่คนแล้วแพร่กระจายในหมู่มนุษย์
อย่างไรก็ตาม มีการระบาดครั้งใหญ่ของโรคที่เกิดจากโคโรนาไวรัสในมนุษย์แล้วหลายครั้ง และค้างคาวก็เป็นส่วนหนึ่งของการระบาดเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น การระบาดของโรค SARS และ MERS และยังเชื่อกันว่า โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ซึ่งเป็นสาเหตุของ COVID-19 ก็มาจากค้างคาวเช่นเดียวกัน
โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพประเมินว่า มีโคโรนาไวรัสซึ่งยังไม่ถูกค้นพบอีกหลายพันชนิดในค้างคาว
คณะนักวิจัยของ Smithsonian ทำงานร่วมกับนักวิจัยในประเทศเมียนมา ในโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อระบุเชื้อโรคใหม่ที่สามารถถ่ายทอดจากสัตว์ไปสู่คน โครงการที่มีชื่อว่า PREDICT นี้ ได้รับการสนับสนุนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID)
เป้าหมายของการวิจัย คือ การศึกษาว่าการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่าสามารถนำไปสู่การติดเชื้อโคโรนาไวรัสในมนุษย์ได้อย่างไร โดยศูนย์กลางของการวิจัยครั้งนี้อยู่ในพื้นที่ที่มีแนวโน้มว่ามนุษย์จะเข้าไปสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ป่าในท้องถิ่นนั้น ๆ
นักวิจัยได้เก็บตัวอย่างน้ำลายและของเสียจากค้างคาวจำนวน 759 ตัวอย่าง ในพื้นที่ต่าง ๆ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559 ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 หลังจากตรวจสอบตัวอย่างเหล่านั้นแล้ว พวกเขาจำแนกโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ 6 ชนิดด้วยกัน
นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบโคโรนาไวรัสที่เคยพบในส่วนอื่น ๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ยังไม่เคยมีมาก่อนในประเทศเมียนมา
Marc Valitutto อดีตสัตวแพทย์สัตว์ป่า ในโครงการ Global Health ของ Smithsonian ซึ่งเป็นหัวหน้าการศึกษาครั้งนี้ กล่าวในถ้อยแถลงที่ตีพิมพ์ในวารสาร Smithsonian Magazine ว่า การแพร่ระบาดอย่างแพร่หลายของโรคต่าง ๆ อย่างเช่น COVID-19 นั้น ควรเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนว่า สุขภาพของมนุษย์นั้นเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับสุขภาพสัตว์ป่าและสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง และควรหาทางป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่มนุษย์ตั้งแต่เริ่มต้น
เขากล่าวต่อไปว่า การวิจัยในอนาคตจะพยายามศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับกับกลไกของโคโรนาไวรัสในสัตว์ เช่น สิ่งที่ทำไวรัสกลายพันธุ์และแพร่กระจายไปยังสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งจะสามารถช่วยลดความเป็นไปได้ของการระบาดใหญ่ในอนาคต
Suzan Murray ผู้อำนวยการโครงการ Global Health ของ Smithsonian กล่าวว่าโคโรนาไวรัสหลายสายพันธุ์อาจไม่ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อมนุษย์ แต่การที่เราสามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อโรคเหล่านี้ได้ตั้งแต่ยังอยู่ในตัวสัตว์ ก็อาจเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่จะเรียนรู้ถึงอันตรายของโรค นอกจากนี้ การระแวดระวัง การวิจัย และการศึกษา ก็เป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการป้องกันการระบาดใหญ่ก่อนที่จะเกิดขึ้น