Your browser doesn’t support HTML5
รายงานเรื่องเจ้าหน้าที่การแพทย์ของอินโดนีเซียหลายร้อยคนที่ติดเชื้อโควิด-19 หลังจากได้รับวัคซีน CoronaVac จากบริษัท Sinovac ของจีน ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนชนิดนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อของสายพันธุ์เดลตา
โดยรายงานจากสมาคมแพทย์ของอินโดนีเซีย ระบุว่า มีแพทย์อย่างน้อย 10 คนที่เสียชีวิตถึงแม้จะได้รับวัคซีนของบริษัท Sinovac ครบสองเข็มแล้วก็ตาม รวมทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์อีกหลายร้อยคนซึ่งติดเชื้อโควิด-19 ด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าการติดเชื้อหลังจากได้รับวัคซีนหรือที่เรียกว่า breakthrough infection นี้เกิดขึ้นกว้างขวางแค่ไหน อาการรุนแรงของการติดเชื้ออยู่ที่ระดับใด และการติดเชื้อโควิด-19 ในบรรดาเจ้าหน้าที่การแพทย์ของอินโดนีเซียหลังจากที่รับวัคซีนของ Sinovac ดังกล่าวแล้วนี้เป็นการติดจากสายพันธุ์เดลตาหรือไม่
เป็นที่เข้าใจได้ว่า กำลังมีความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากสายพันธุ์เดลตาอยู่ ถึงแม้ว่าข้อมูลการเปรียบเทียบวัคซีนแต่ละชนิดสำหรับป้องกันการติดเชื้อต่างสายพันธุ์นั้นจะมีอยู่ค่อนข้างจำกัดและสร้างความสับสนไม่น้อยเลยทีเดียว
นอกจากนั้นโอกาสการเข้าถึงวัคซีนก็มีอยู่อย่างจำกัดในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งขณะนี้อินโดนีเซียก็นับเป็นหนึ่งในบรรดาหลายสิบประเทศที่มีการใช้วัคซีน CoronaVac จากบริษัท Sinovac ของจีนเป็นส่วนใหญ่
เมื่อต้นเดือนมิถุนายน รัฐบาลอุรุกวัยเผยแพร่ผลการศึกษาซึ่งเปรียบเทียบวัคซีนของ Sinovac กับวัคซีนจากบริษัทอื่น และรายงานว่า วัคซีนจาก Sinovac ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อโควิด-19 ได้ 61% ลดโอกาสการต้องเข้าโรงพยาบาลได้ 92% และลดโอกาสการเสียชีวิตได้ 95%
ในขณะที่วัคซีนของ Pfizer-BioNTech นั้นดูจะให้ตัวเลขที่สูงกว่าในแง่การป้องกันการติดเชื้อ คือ 78% ถึงแม้การลดโอกาสการต้องเข้าโรงพยาบาลและการเสียชีวิตนั้นจะอยู่ในเกณฑ์พอๆ กับวัคซีนของ Sinovac ก็ตาม
แต่ที่สำคัญก็คือรายงานของรัฐบาลอุรุกวัยชิ้นนี้ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าขณะที่ทำการศึกษานั้นเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใดเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดหนักอยู่ในประเทศ
Your browser doesn’t support HTML5
ส่วนอีกด้านหนึ่ง มีรายงานการศึกษาในวารสาร Natute Medicine ว่าวัคซีนของ Sinovac สร้างแอนตี้บอดี้ที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ในระดับต่ำกว่าวัคซีนชนิดอื่น เช่น Pfizer-BioNTech, AstraZeneca และ Johnson & Johnson ส่วนระดับ ของแอนตี้บอดี้ที่ช่วยต้านสายพันธุ์เดลตานั้นก็ยิ่งต่ำกว่าด้วย
ตามรายงานของรอยเตอร์นั้น ปัญหาหนึ่งเกี่ยวกับการเปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีนชนิดต่าง ๆ มาจากการที่จีนไม่ได้เปิดเผยผลการทดสอบวัคซีนกับเชื้อที่กลายพันธุ์ ทั้งในระหว่างการทดลองในห้องปฏิบัติการ กับมนุษย์ และจากการนำไปใช้จริง ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะเปรียบเทียบประสิทธิผลของวัคซีนจาก Sinovac เทียบกับวัคซีนชนิดอื่นเมื่อใช้กับสายพันธุ์เดลตา
อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์รายงานว่า หากพิจารณาประสิทธิผลของวัคซีนเฉพาะตัวเพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาแล้ว พบว่า เมื่อเดือนพฤษภาคมหน่วยงานสาธารณสุข Public Health England ของอังกฤษได้เปิดเผยผลการศึกษาว่าสองสัปดาห์หลังจากที่รับวัคซีนครบสองเข็มแล้ว วัคซีน Pfizer-BioNTech จะใช้ได้ผล 88% เพื่อป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าแบบแสดงอาการ เมื่อเทียบกับประสิทธิผล 93% เพื่อป้องกันสายพันธุ์อัลฟา
ส่วนวัคซีนของ AstraZeneca นั้นก็จะมีประสิทธิผล 60% เพื่อป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าแบบแสดงอาการ และมีประสิทธิผล 66% สำหรับป้องกันการติดเชื้อจากสายพันธุ์อัลฟา
(ที่มา: VOA News และ Reuters)