เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน ตามเวลาในสหรัฐฯ นายคริส เมอร์ฟี วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จากพรรคเดโมเแครต และ นายเจอร์รี โมราน วุฒิสมาขิกจากพรรครีพับลิกัน ได้ยื่นจดหมายเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ นายแอนโทนี บลิงเคน สนับสนุนการจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 ให้กับชาวอเมริกันกว่า 9 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ
ส.ว. เมอร์ฟี และ ส.ว.โมราน พร้อมทั้งวุฒิสมาชิกอีก 24 คนที่ร่วมลงนาม ยังขอให้รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน บริจาควัคซีนต้านโควิดให้กับสถานทูตและสถานกงสุลสหรัฐฯ ทั่วโลก และให้ประสานงานกับกระทรวงกลาโหม เพื่อทำการฉีดวัคซีนให้กับชาวอเมริกัน โดยให้ความสำคัญกับพลเมืองสหรัฐฯ ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่พวกเขาไม่มีสิทธิ์ได้รับวัคซีน หรือในประเทศที่ไม่มีวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ องค์การอนามัยโลก
โดยเนื้อหาในจดหมายกล่าวว่า ในขณะที่สหรัฐฯ กำลังเข้าใกล้เป้าหมายของรัฐบาลไบเดน ที่ต้องการเห็นชาวอเมริกันในวัยผู้ใหญ่อย่างน้อยร้อยละ 70 ได้รับการฉีดวัคซีนภายในวันที่ 1 กรกฎาคม อัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลกยังแตกต่างกันอยู่มาก
โดยวัคซีนที่แจกจ่ายออกไปแล้วทั่วโลกนั้น ร้อยละ 85 เป็นการฉีดในในประเทศที่ร่ำรวยหรือประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง ในขณะที่ประเทศรายได้ต่ำนั้นมีการฉีดวัคซีนเพียง ร้อยละ 0.3 ของการฉีดวัคซีนทั้งหมด นอกจากนี้ ในขณะที่ชาวอเมริกันในบางประเทศมีสิทธิได้รับการฉีดวัคซีน แต่ในหลาย ๆ ประเทศ พวกเขากลับไม่มีสิทธิได้วัคซีน เพราะถือว่าไม่ใช่พลเมืองของประเทศนั้น ๆ
ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แนะนำให้ชาวอเมริกันศึกษากฎเกณฑ์การรับวัคซีนของประเทศที่อาศัยอยู่ หรือเดินทางกลับสหรัฐฯ หากต้องการวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองโดยองค์การอาหารและยา ซึ่งได้แก่ วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค โมเดอร์นา และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน
แต่กลุ่มวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ แย้งว่า การที่ให้ชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ต่างประเทศต้องเดินทางมาสหรัฐฯ เพื่อมาฉีดวัคซีนนั้น อาจจะทำไม่ได้เพราะการเดินทางอาจมีค่าใช้จ่ายสูง และหลายคนอาจต้องถูกกักตัวเมื่อกลับไปยังประเทศที่อาศัยอยู่ ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้ชาวอเมริกันหลายล้านคนรู้สึกกังวลใจว่าพวกเขาอาจจะต้องรอวัคซีนไปเป็นเวลาหลายเดือน หรือหลายปี
จดหมายถึง รมต.แอนโทนี บลิงเคน ได้รับการเผยแพร่เพียงหนึ่งวัน หลังจากที่สถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ออกจดหมายลงวันที่ 23 มิถุนายน ชี้แจงชาวอเมริกันในประเทศไทยว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ไม่สามารถจัดสรรวัคซีนให้ชาวอเมริกันในต่างประเทศได้ แต่สหรัฐฯ จะทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย เพื่อให้แน่ใจว่าชาวอเมริกันในประเทศไทยจะได้รับการดูแลเรื่องวัคซีน ตามเป้าหมายของรัฐบาลไทย ที่จะฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศ ไม่ว่าจะถือสัญชาติใดก็ตาม
ก่อนหน้านี้ ชาวอเมริกันในไทยได้เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ จัดส่งวัคซีนของบริษัท ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค โมเดอร์นา และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ มาให้กับคนอเมริกันที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทย
เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม กลุ่ม Democrats Abroad Thailand ยังได้ร่วมกับ Republicans Overseas Thailand กลุ่มทหารผ่านศึก และกลุ่มสตรีอเมริกัน ในการลงนามในจดหมายถึงนาย บลิงเคน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ทำตามพันธสัญญาที่จะจัดสรรวัคซีนให้ “all Americans” หรือ “อเมริกันทุกคน”
พวกเขายังเสนอว่าไทยเหมาะจะเป็นประเทศแรกที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะทดลองจัดส่งและฉีดวัคซีนให้กับชาวอเมริกันหลายหมื่นคนที่อาศัยอยู่ที่นี่ เพราะไทยมีความพร้อมด้านสาธารณสุข มีโรงพยาบาลเอกชน และมีหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ จำนวนมาก ซึ่งหากประสบความสำเร็จ กรุงวอชิงตันสามารถนำเอาโมเดลนี้ ไปใช้ในประเทศอื่น เพื่อช่วยเหลือชาวอเมริกันต่างแดนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
ปัจจุบันมีชาวอเมริกันที่อายุมากกว่า 18 ปีที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 แล้วอย่างน้อย 1 โดสเป็นจำนวนเกือบ 170 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 65.8 ในขณะที่มีผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว 145.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 56.3 ตามข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือ CDC ในวันที่ 25 มิถุนายน
จดหมายของวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดี อ้างว่ากระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้ฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรและเจ้าหน้าที่กระทรวงพร้อมกับครอบครัวของพวกเขาหลายหมื่นคน ในขณะที่กระทรวงกลาโหมได้ทำการฉีดวัคซีนมากกว่าหนึ่งล้านโดสในมากกว่า 80 พื้นที่ทั่วโลก ถึงแม้ว่าการฉีดวัคซีนให้คนอเมริกันที่อาศัยอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกนั้นจะมีความท้าทาย แต่ ส.ว.เหล่านี้มองว่าเป็นความท้าทายที่สามารถจัดการได้ หากกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ร่วมมือกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของรัฐบาลอเมริกัน
กลุ่ม ส.ว. ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า รัฐบาลของไบเดนได้ทำให้การฉีดวัคซีนให้คนอเมริกันและเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ประจำประเทศต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างน่าทึ่ง ในเวลานี้ที่รัฐบาลสหรัฐฯ เริ่มหันไปสนใจการขับเคลื่อนการฉีดวัคซีนทั่วโลก โดยตั้งเป้าบริจาควัคซีน 500 ล้านโดสให้กับ 92 ประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางนั้น พวกเขาขอให้สหรัฐฯ มองหาหนทางที่จะฉีดวัคซีนให้คนอเมริกันในต่างประเทศด้วย