Your browser doesn’t support HTML5
ในอดีต ผลตอบแทนหรือสวัสดิการที่บริษัทต่างๆ นำมาใช้ในการจูงใจคนเก่งๆ หรือคนที่ทางบริษัทต้องการ ให้เข้ามาทำงาน มักจะอยู่ในรูปของหุ้นหรือตารางการทำงานที่ยืดหยุ่น หรือการจัดปาร์ตี้สังสรรค์ระหว่างพนักงาน
แต่ปัจจุบัน ในสถานการณ์ที่บริษัทต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัททางด้านเทคโนโลยีในเขต Silicon Valley รัฐแคลิฟอร์เนีย กำลังแข่งขันแย่งชิงคนที่มีความสามารถทางด้านเทคโนโลยี นักออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือวิศวกร กันอย่างดุเดือด ดูเหมือนแค่สวัสดิการหรือผลตอบแทนในรูปของหุ้นหรือตัวเงินนั้นจะไม่เพียงพอ แต่ยังต้องรวมถึงสภาพแวดล้อมที่ทำงาน บรรยากาศการทำงาน หรือคุณภาพชีวิตและจิตใจของพนักงานแต่ละคนด้วย
ด้วยเหตุนี้บริษัทเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านั้น จึงต้องมีตำแหน่ง Workplace Coordinator หรือ Workplace Happiness ซึ่งทำหน้าที่จัดหากิจกรรมสันทนาการต่างๆ เพื่อความผ่อนคลาย การอำนวยความสะดวกในที่ทำงาน และการสานสัมพันธ์ในหมู่พนักงานด้วยกัน โดยบริษัท Google คือผู้นำในด้านนี้จนประสบความสำเร็จมาแล้ว ตัวอย่างเช่น nap pods หรือแคปซูลแอบงีบตอนกลางวันอันโด่งดัง
นสพ.Wall Street Journal รายงานว่า คุณ Jen Nguyen หัวหน้าฝ่ายสานสัมพันธ์ที่ทำงานของบริษัทสื่อสังคมออนไลน์ Pinterest บอกว่า นอกจากอาหารกลางวันแบบมีพ่อครัวปรุงเป็นพิเศษเสนอให้พนักงานทุกคนทุกสัปดาห์แล้ว ทางบริษัทยังเสนอหลักสูตรออกกำลังกายหลายประเภท เช่น โยคะและมวยไทย รวมทั้งหลักสูตรทดสอบไวน์ สอนทำอาหาร สอนงานฝีมือหรือทักษะใหม่ๆ เป็นประจำเดือนละ 2 ครั้งด้วย
ส่วนบริษัทซอฟท์แวร์ Asana มีข้อเสนอ 10,000 ดอลล่าร์ ให้พนักงานแต่ละคนสามารถนำไปใช้ซื้อคอมพิวเตอร์และเฟอร์นิเจอร์สำหรับโต๊ะทำงานของตนเองโดยไม่กำหนดว่าจะต้องเป็นแบบไหน ผู้บริหารของ Asana บอกว่าทางบริษัทลงทุนในด้านความหรูหราสะดวกสบายของพนักงาน เป็นมูลค่าหลายหมื่นดอลล่าร์ต่อคนต่อปี เป้าหมายเพื่อเก็บพนักงานที่ดีไว้ให้นานที่สุด และไม่ให้บริษัทอื่นแย่งไปได้
อย่างไรก็ดี นักวิจารณ์บางคนบอกว่าเรื่องนี้อาจส่งผลเสียต่อบริษัทได้เช่นกัน ประการแรก คือพนักงานที่หลงใหลได้ปลื้มกับสิ่งต่างๆ ที่บริษัทเสนอให้นั้น อาจไม่ใช่คนที่บริษัทต้องการเก็บเอาไว้ สองคือ เมื่อบริษัทประสบภาวะขาดทุน ก็อาจเป็นเรื่องยากที่จะทำให้พนักงานซึ่งเคยได้รับในสวัสดิการและความสบายเหล่านั้น ยอมปรับลดความต้องการของพวกเขาลงไปด้วย เข้าทำนองจมไม่ลง
สามคือ พนักงานหลายคนมักคิดว่าพวกเขาสามารถร้องขอในสิ่งใดก็ได้ที่ต้องการ เพราะถูกทางบริษัทตามใจจนเคยตัว และประการที่สี่คือ การที่ธุรกิจเทคโนโลยีกำลังเติบโตขยายตัวเหมือนฟองสบู่ บริษัทเทคโนโลยีจึงต่างมองเห็นมูลค่าของบริษัทที่สูงขึ้นๆในรูปของราคาหุ้น และกล้าที่จะลงทุนในเรื่องความพอใจของลูกจ้างได้ เพราะมองว่าเป็นเงินเล็กน้อย แม้ว่าจริงๆ แล้วทางบริษัทจะมีกำไรไม่มากอย่างที่เห็นก็ตาม
คุณ Jen Nguyen หัวหน้าฝ่ายสานสัมพันธ์ที่ทำงานของ Pinterest เห็นด้วยว่า เป็นเรื่องยากที่จะสร้างสมดุลระหว่างความพยายามรักษาพนักงานที่มีความสำคัญกับบริษัท โดยที่ไม่ทำให้พนักงานทุกคนรู้สึกว่าถูกตามใจมากเกินไป คุณ Nguyen บอกด้วยว่าอาชีพ Workplace Coordinator นี้จะว่าไปก็เหมือนการปิดทองหลังพระ เพราะถ้าทำดีก็มักจะไม่มีใครสังเกตเห็น แต่ถ้าพนักงานคนใดเกิดไม่ถูกใจ ก็อาจถูกตำหนิหรือร้องเรียนเอาได้ง่ายๆ เหมือนกัน
รายงานจาก Wall Street Journal / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล