Your browser doesn’t support HTML5
Ravindra Sunku เล่าว่าตอนที่เขาอาศัยในเมืองไฮเดอราบัด ประเทศอินเดีย เขามองเห็นเขม่าควันและได้กลิ่นจากเผาน้ำมันก๊าดและฟืนที่เพื่อนบ้านใช้ในการหุงต้ม
ภาพในความทรงจำนี้ยังติดตา เเละทำให้เขาหวนคิดว่าน่าจะมีคนที่เขารู้จักหลายคนที่ทุกข์ทรมานจากโรคปอด ที่เกิดจากการสูดเอาเขม่าควันไฟในขณะหุงต้มอาหาร
ปัจจุบัน Sunku ทำงานเป็นผู้บริหารด้านเทคโนโลยีของบริษัทเเห่งหนึ่งใน Silicon Valley แต่เมื่อไม่นานมานี้ เขากลายเป็นอาสาสมัครใน RippleWorks หน่วยงานไม่หวังผลกำไรเเห่งหนึ่ง
Ravindra Sunku ให้คำปรึกษาแก่บริษัท Burn Manufacturing ในไนโรบี ประเทศเคนยา ซึ่งผลิตเตาหุงต้มสะอาดที่ช่วยไม่สร้างผลเสียต่อสุขภาพ เเละช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่า โดยตั้งเเต่ปี 2013 เป็นต้นมาบริษัท Burn ได้จัดส่งเตาหุงต้มสะอาดไปแล้ว 250,000 เตา
RippleWorks ซึ่งเป็นโครงการจัดหาพี่เลี้ยงให้บริษัทน้องใหม่ ตั้งอยู่ใน Silicon Valley ในแคลิฟอร์เนีย โดยจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีเพื่อให้คำปรึกษาแก่บริษัท startups ทั่วโลก ที่มุ่งผลิตผลงานที่มีผลกระทบทางสังคม
Sunku เป็นผู้อำนวยการด้านไอทีของบริษัท StitchFix ในซานฟรานซิสโก เขาจะมีการประชุมทางไกลกับหัวหน้าฝ่ายการเงินและผู้จัดการทั่วไปของบริษัท Burn Manufacturing สัปดาห์ละครั้ง และใช้เวลาเพิ่มอีกสองชั่วโมงในช่วงสุดสุปดาห์ทำงานให้กับบริษัท Burn Manufacturing และอีกหนึ่งชั่วโมงทำงานกับผู้จัดการโครงการที่หน่วยงาน RippleWorks
RippleWorks ได้จัดหาพี่เลี้ยงที่ช่วยเหลือบริษัทต่างๆ ทำโครงการไปแล้ว 28 โครงการและวางแผนที่ช่วยเหลือเพิ่มอีก 40 โครงการภายในปีนี้
โครงการพี่เลี้ยงนี้มุ่งเลือกบริษัทที่มีเป้าหมายปรับปรุงด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล เทคโนโลยีพลังงานสะอาด และการเข้าถึงความช่วยเหลือทางการเงิน
ที่ผ่านมา บริษัทที่ทางโครงการจัดหาพี่เลี้ยงให้เเล้ว รวมทั้ง NeoGrowth บริษัทในมุมไบ ที่จัดหาเงินกู้ระยะสั้นแก่เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก
บริษัท Zoona ที่ใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการบริการทางการเงินเเก่ประชาชนในประเทศมาลาวี และแซมเบีย
และในกรุงเม็กซิโกซิตี้ หน่วยงาน RippleWorks จัดหาพี่เลี้ยงที่มีความเชี่ยวชาญด้านการตลาดและผลิตภัณฑ์ให้เเก่บริษัท Cignifi ที่ให้บริการด้านเครดิตแก่ลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์มือถือ
ทางหน่วยงาน RippleWorks จะประเมินปัญหาที่บริษัทน้องใหม่กำลังประสบ และจัดหาผู้เชี่ยวชาญที่เคยผ่านงานด้านนั้นๆ มาเป็นพี่เลี้ยง หลังจากนั้น RippleWorks จะเป็นผู้ดูแลจัดการโครงการ และเป็นผู้จัดการประชุมทางไกลจอภาพ
Doug Galen ผู้ร่วมก่อตั้ง RippleWorks และซีอีโอ กล่าวว่า เคล็ดลับของความสำเร็จของหน่วยงานคือการดูเเลจัดการให้ทุกคนทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)