โสมขาวอาจส่งอาวุธช่วยยูเครน หลังหมีขาวประสานมือโสมแดง

  • VOA

แฟ้มภาพ - นายทหารโปแลนด์เข้าร่วมการฝึกใช้รถถัง K2 ที่ผลิตโดยเกาหลีใต้ เมื่อ 30 มี.ค. 2566

ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ชาติตะวันตกพยายามขอให้เกาหลีใต้พิจารณาส่งอาวุธไปช่วยยูเครนรับมือการรุกรานของรัสเซีย ด้วยความเชื่อว่า ความช่วยเหลือโดยตรงจากรัฐบาลกรุงโซลจะมีบทบาทสำคัญในการต้านมอสโก แต่เกาหลีใต้ก็ปฏิเสธมาโดยตลอด จนกระทั่งรัสเซียขยับมาใกล้ชิดกับเกาหลีเหนือมากขึ้นในสัปดาห์นี้

เกาหลีใต้ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาวุธชั้นนำของโลกให้เหตุผลว่า การส่งอาวุธของตนให้ยูเครนอาจทำให้รัสเซียใช้อ้างเพื่อขยายความร่วมมือทางทหารกับเกาหลีเหนือซึ่งพยายามพัฒนาอาวุธล้ำสมัยที่พุ่งเป้ามายังกรุงโซล

แต่การประเมินสถานการณ์เช่นนั้นอาจใช้ไม่ได้แล้ว หลังประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เดินทางเยือนกรุงเปียงยาง และพบกับ คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ ก่อนที่ทั้งสองจะลงนามในสนธิสัญญาความร่วมมือทางทหารกัน โดยผู้นำมอสโกยังส่งสัญญาณความพร้อมที่จะส่งอาวุธให้เปียงยางด้วย

Your browser doesn’t support HTML5

‘ปูติน-คิม’ ลงนามสนธิสัญญาใหม่ ยกระดับสัมพันธ์หมีขาว-โสมแดงแนบแน่น

การประกาศความร่วมมืออย่างเป็นทางการของสองประเทศนี้ทำให้ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากประหลาดใจ เพราะหลายคนคิดว่า มอสโกน่าจะเพียงต้องการหาประโยชน์ระยะสั้นจากเปียงยางเท่านั้น ขณะที่ รัฐบาลประธานาธิบดียูน ซุก ยอล แห่งเกาหลีใต้ รู้สึกเดือดกับเรื่องนี้ไม่น้อย

ในการแถลงข่าวเมื่อวันพฤหัสบดี ชาง โฮ-จิน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติเกาหลีใต้ โจมตีการทำสนธิสัญญารัสเซีย-เกาหลีเหนือว่า เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และบอกว่า รัฐบาลกรุงโซลจะกลับมาพิจารณาว่าจะยกเลิกการตัดสินใจห้ามการส่งอาวุธร้ายแรงให้กับยูเครนหรือไม่

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลหัวอนุรักษ์นิยมของปธน.ยูน ส่งสัญญาณว่า อาจตัดสินใจเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับยูเครน แต่ท่าทีล่าสุดนี้ดูมีความจริงจังกว่าครั้งก่อน ๆ อย่างเห็นได้ชัด

อันดรีย์ นิโคแลอินโก สมาชิกรัฐสภายูเครนซึ่งเป็นอดีตนักการทูตประจำสถานทูตยูเครนในกรุงโซล บอกกับ วีโอเอ ว่า ตนเชื่อว่า คำแถลงล่าสุดของกรุงโซลชี้ให้เห็นถึงความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายที่ว่านี้แล้ว โดยกล่าวว่า “นี่ไม่ใช่เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของผม แต่เป็นความคาดหวังของเจ้าหน้าที่ยูเครนที่มองว่า เวลานี้ เกาหลีใต้จะเปลี่ยนแปลงนโยบายของตนจริง ๆ แล้ว เพื่อจัดส่งอาวุธยุทธภัณฑ์ไปยังยูเครน ในแบบที่น่าจะเปิดเผยและโดยตรงด้วย

ศาสตราจารย์เลฟ-เอริค อีสลีย์ จากมหาวิทยาลัยอีฮวา กล่าวว่า “การที่ปูตินลงนามใน(สนธิสัญญา)ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านกับ คิม จอง อึน ชี้ให้เห็นว่า ความพยายามจำกัดตัวเองของเกาหลีใต้ไม่สนับสนุนยูเครนนั้นแทบไม่มีความหมายอะไรเลยสำหรับมอสโก

ปธน.ยูน ซุก ยอล และปธน.โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ถ่ายภาพร่วมกันเมื่อ 15 ก.ค. 2566 ที่กรุงเคียฟ ประเทศยูเครน

ที่ผ่านมา เกาหลีใต้ ในฐานะประเทศผู้ผลิตอาวุธที่มีขนาดใหญ่อันดับ 9 ของโลก จัดส่งอาวุธให้ยูเครนผ่านบุคคลที่ 3 เช่น สหรัฐฯ และโปแลนด์เท่านั้น

โช ฮัน-บอม นักวิจัยอาวุโสจาก Korea Institute for National Unification เห็นด้วยกับความเห็นของนักวิเคราะห์หลายรายว่า การจัดส่งอาวุธของเกาหลีใต้ให้ยูเครนจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมในสงครามยูเครน-รัสเซีย โดยกล่าวว่า “อาวุธของเกาหลีเหนือนั้นไม่ได้ช่วยให้รัสเซียดำเนินการทำสงครามได้มาก แต่อาวุธของเกาหลีใต้อาจเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทั้งหมดของความขัดแย้งนี้ได้เลย

  • ที่มา: วีโอเอ