เสียงร้องและอารมณ์ จุดกำเนิดนวัตกรรมเครื่องมือแปลภาษาหมู

In this file photo, pigs show their snouts through a fence at a farm in Buckhart, Ill. on June, 28, 2012. (AP Photo/M. Spencer Green, File)

ทีมนักวิจัยนานาชาติเพิ่งประสบความสำเร็จในการสร้างเทคโนโลยีที่สามารถนำเสียงหมูมาใช้ในการตีความอารมณ์ต่างๆ ของพวกมันได้ โดยการพัฒนาอัลกอริทึมที่ใช้ในการระบุอารมณ์ต่างๆ ของหมู ที่อ้างอิงการบันทึกตัวอย่างเสียงตลอดอายุขัยของหมูมากกว่า 400 ตัว

การวิจัยนี้อาจนำไปสู่การสร้างแอปพลิเคชั่นที่เกษตรกรจะสามารถใช้ในการเรียนรู้สภาวะทางอารมณ์ของหมู เพื่อที่จะนำไปพัฒนาผลผลิตและความเป็นอยู่ของพวกมันได้

กลุ่มนักวิจัยดังกล่าวซึ่งนำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งโคเปนเฮเกน อีทีเอช ซูริค (University of Copenhagen ETH Zurich) ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ร่วมมือกับสถาบันวิจัยการเกษตร อาหาร และสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของฝรั่งเศสในการทดลองที่นำไปสู่การสร้างอัลกอริทึมนี้ และผลของการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports เมื่อไม่นานมานี้

หลายคนอาจทราบดีว่า หมูเป็นสัตว์ที่มีเสียงร้องที่ดังมาก และนักวิจัยชี้ว่า การที่หมูส่งเสียงแตกต่างกันไปนั้นจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์แวดล้อม และเสียงเหล่านี้สามารถเชื่อมโยงกับอารมณ์ต่างๆ ของพวกมันด้วย

Pigs are seen at a pig farming in Lamballe, central Brittany, November 5, 2013. REUTERS/Stephane Mahe

นักวิจัยทำการศึกษาตัวอย่างเสียงหมูมากกว่า 7,000 เสียงในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ตั้งแต่เกิดไปจนตาย โดยการบันทึกเสียงทั้งหมดนี้มีทั้งแบบที่บันทึกมาตามธรรมชาติและแบบบันทึกในสภาพแวดล้อมที่จัดขึ้นเพื่อทำการทดลอง และหลังจากได้ตัวอย่างเสียงต่างๆ มาแล้ว ทีมวิจัยจัดกลุ่มเสียงตามสถานการณ์และกิจกรรมต่างๆ ของหมู

ทั้งนี้ นักวิจัยทำการสังเกตพฤติกรรมของหมูทั้งในสถานการณ์เชิงบวกที่หมูชอบและที่เป็นเชิงลบซึ่งหมูไม่ชอบด้วย

สถานการณ์เชิงบวกที่ว่านี้รวมความถึงขณะที่แม่หมูให้นมลูกหมู หรือการรวมตัวกับสมาชิกในครอบครัวหลังจากถูกแยกออกจากกัน ส่วนสถานการณ์เชิงลบนั้น มีทั้งกรณีการถูกจะจับแยกตัว การต่อสู้กันของหมู การทำหมัน หรือการเตรียมตัวในการถูกฆ่าเป็นอาหาร

นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้ศึกษาหมูในสภาพแวดล้อมแบบที่มีการควบคุม โดยในระหว่างการทดลองนี้ หมูบางตัวได้รับอาหารและสิ่งของต่าง ๆ ในขณะที่บางตัวไม่ได้รับอะไรเลย และนักวิจัยติดตามพฤติกรรมของสัตว์และบันทึกเสียงหมู พร้อมทั้งจดบันทึกปฏิกิริยาทางกายภาพของพวกมันไว้ด้วย

จากนั้น นักวิจัยศึกษาสิ่งที่บันทึกไว้และพยายามระบุความคล้ายคลึงกันของเสียงที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์และอารมณ์ต่างๆ เพื่อแยกแยะอารมณ์ของสถานการณ์เชิงบวกออกจากสถานการณ์เชิงลบ โดยพบว่า เสียงที่แหลมสูงมักจะวัดได้ในสถานการณ์เชิงลบ ในขณะที่เสียงที่ต่ำลงนั้นเชื่อมโยงกับอารมณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบ

เอโลดีย์ บรีฟเฟอร์ (Elodie Briefer) รองศาสตราจารย์ภาควิชาชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งโคเปนเฮเกน ซึ่งเป็นหัวหน้าการศึกษาครั้งนี้ระบุในแถลงการณ์ว่า การศึกษาดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่า เสียงของสัตว์ช่วยให้เราเข้าใจอารมณ์ของพวกมันได้อย่างชัดเจน

บรีฟเฟอร์ กล่าวว่า มีความแตกต่างที่ชัดเจนในเสียงร้องของหมูในสถานการณ์เชิงบวกหรือเชิงลบ และเธอตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในสถานการณ์เชิงบวกนั้น เสียงจะสั้นกว่ามาก โดยมีการเปลี่ยนแปลงระดับความแรงเพียงเล็กน้อย แต่ในทางกลับกัน หากเป็นสถานการณ์ในเชิงลบ จะมีเสียงฮึดฮัดที่ต่ำ และจะเริ่มสูงขึ้นแต่แล้วก็ลดต่ำลงอีก

นักวิจัยเปิดเผยด้วยว่า การฝึกอัลกอริทึมให้จดจำเสียงภายใต้สถานการณ์ต่างๆ ได้นั้นสามารถช่วยระบุอารมณ์ของหมูได้ถูกต้องถึง 92 เปอร์เซ็นต์

บรีฟเฟอร์กล่าวทิ้งท้ายว่า ด้วยข้อมูลและการฝึกฝนที่มากขึ้น อัลกอริทึมนี้จะสามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือที่มีคุณค่าในการช่วยพัฒนาสุขภาพจิตของหมูและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ในฟาร์มได้ในอนาคต แต่ในตอนนี้ เธอแนะว่า ควรมีการพัฒนาอัลกอริทึมให้เป็นแอปที่เกษตรกรสามารถใช้ในการปรับปรุงพัฒนาความเป็นอยู่ของสัตว์ในฟาร์มของตนเสียก่อน