นักวิจัยทดลองใช้จุลินทรีย์บำบัดน้ำเสียจากเหมืองแร่ได้สำเร็จ

  • George Putic
นักวิทยาศาสตร์อเมริกันพัฒนาวิธีการบำบัดสารโลหะหนักในน้ำเสียจากเหมืองเเร่ได้สำเร็จและเสียค่าใช้จ่ายน้อย

Your browser doesn’t support HTML5

Science Wastewater Treatment Microbes

การทำเหมืองต้องใช้น้ำในปริมาณมาก และน้ำที่ใช้ในเหมืองจะปนเปื้อนไปด้วยเเร่โลหะหนักที่ละลายในน้ำ ทำให้ไม่สามารถนำไปใช้ในการบริโภคและในการเกษตรกรรมได้

น้ำเสียจากจุดทิ้งขยะถ่านหินใกล้กับโรงไฟฟ้าก็มีปัญหาเดียวกันนี้

อย่างไรก็ดี แร่โลหะหนักมีหลายลักษณะด้วยกัน ยกตัวอย่าง แร่โครเมี่ยม 6 เป็นเเร่โลหะหนักที่ละลายในน้ำได้และมีความเป็นพิษสูงมาก ในขณะที่เเร่โครเมี่ยม 3 ที่ไม่มีพิษ จะไม่ละลายในน้ำ

ศาสตราจารย์ Victor Ibeanusi ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยาสิ่งเเวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัย Florida A&M กล่าวว่า เขาได้คิดค้นวิธีบำบัดน้ำเสียจากเหมืองเเร่ด้วยตัวจุลินทรีย์ได้สำเร็จ และช่วยนำน้ำไปใช้ต่อได้ในภาคเกษตรกรรม

ศาสตราจารย์ Ibeanusi อธิบายว่า ระบบบำบัดเเร่โลหะหนักในน้ำด้วยจุลินทรีย์ เป็นกรรมวิธีปรับสภาพของตัวเเร่โลหะหนักในน้ำไม่ให้เป็นพิษอีกต่อไป เป็นการทำให้เเร่โลหะหนักตกตะกอนออกจากน้ำ

เนื่องจากจุลินทรีย์แบ่งตัวอย่างรวดเร็ว บรรดานักวิทยาศาสตร์จึงสามารถเลี้ยงจุลินทรีย์สายพันธุ์ต่างๆ ที่เติบโตได้ดีในน้ำที่มีเเร่โลหะหนักที่เป็นพิษปนเปื้อน

ศาสตราจารย์ Ibeanusi ได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ เขาทดสอบระบบบำบัดน้ำด้วยจุลินทรีย์นี้ในห้องแล็บทดลอง และในระบบน้ำเสียของเหมืองแร่ที่มีกรดแห่งหนึ่งในรัฐอลาบาม่า

การบำบัดน้ำเสียปริมาณหนึ่งพันลิตร ต้องใช้เชื้อเเบคทีเรียหนึ่งมิลลิลิตร และน้ำที่มีสารอาหารสูง 23 กรัม เเละเนื่องจากแบคทีเรียเพิ่มจำนวนเเบบยกกำลัง กล่าวคือ ภายใน 24 ชั่วโมง มันจะเติบโตได้ในจำนวนมหาศาล และทำหน้าที่แปรสภาพเเร่โลหะหนักในน้ำเสียที่บำบัดและยังมีการทดลองอีกครั้งหนึ่งในแม่น้ำ

ศาสตราจารย์ Ibeanusi กล่าวว่าในการทดลองบำบัดน้ำในแม่น้ำที่เขื่อน Russell Dam ที่มีน้ำเสียไหลมาปะปนตลอดเวลา หลังจากทดลองบำบัดด้วยเชื้อเเบคทีเรีย ภายในสามวัน พบว่าเเร่โลหะหนักตกตะกอนเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ผลการวิเคราะห์ด้วยภาพเอ็กซเรย์แสดงให้เห็นว่า เเร่โลหะหนักที่เป็นพิษไม่พบอยู่ในน้ำอีกต่อไป และหลังจากการบำบัดไม่นานนัก นักวิทยาศาสตร์พบว่าเริ่มมีสัตว์น้ำกลับไปอาศัยในแม่น้ำที่เขื่อนเเห่งนี้อีกครั้ง

ขณะนี้ ศาสตราจารย์ Ibeanusi และทีมงาน กำลังศึกษาเชื้อเเบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถผลิตโปรตีนเทียมได้หลายชนิด โดยเป็นโปรตีนที่นำไปใช้ในบำบัดน้ำเสียได้

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)