ในรายงานที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสารด้านวิทยาศาสตร์ Proceedings of the National Academy of Sciences นักวิจัยที่ Indiana University วิทยาเขต Bloomington ได้วิเคราะห์ฐานข้อมูลของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งสัตว์ พืช และจุลินทรีย์ เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับจำนวนสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตบนโลก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความท้าทายที่สุดของการค้นคว้าด้านชีววิทยา
คุณ Jay Lennon ผู้จัดทำรายงานชิ้นนี้ชี้ว่า การสำรวจครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนๆ เพราะเป็นการรวบรวมฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีอยู่ ภายใต้กฎเกณฑ์การวิเคราะห์ด้านนิเวศวิทยาแบบใหม่ ซึ่งช่วยให้สามารถประเมินจำนวนสายพันธุ์ของเชื้อจุลินทรีย์ได้ดีกว่าเดิม นักวิจัยผู้นี้ระบุด้วยว่า การพัฒนาเทคโนโลยีการจัดเรียงลำดับพันธุกรรมแบบใหม่ ทำให้สามารถหาข้อมูลได้มากมายมหาศาลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ผู้จัดทำรายงานกล่าวว่า “กฎแห่งมาตราส่วน” สามารถช่วยประเมินสายพันธุ์ของพืชและสัตว์ได้อย่างแม่นยำ ด้วยการวิเคราะห์ปริมาณอาหารและองค์ประกอบสำคัญอื่นๆที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
ที่ผ่านมา สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตประเภทจุลินทรีย์ซึ่งมีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่านั้น มักจะถูกมองข้ามไป ซึ่งรวมถึงแบคทีเรียชนิดต่างๆ และสิ่งมีชีวิตประเภทสัตว์เซลล์เดียว
แต่งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่า “กฎแห่งมาตราส่วน” สามารถนำมาใช้ในการคำนวณจำนวนสปีชี่ส์ของเชื้อจุลินทรีย์ได้เช่นกัน ซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปของนักวิจัยชุดนี้ว่า โลกเราอาจมีสิ่งมีชีวิตอยู่ถึง 1 ล้านล้านสปีชี่ส์
อย่างไรก็ตาม การที่จะระบุสายพันธุ์จุลินทรีย์ให้ได้ครบทุกสปีชี่ส์นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอนสำหรับองค์กร Earth Microbiome Project ซึ่งมีหน้าที่ด้านนี้โดยตรง เมื่อพิจารณาว่าปัจจุบันมนุษย์เราสามารถระบุได้ยังไม่ถึง 10 ล้านสปีชีส์
และในจำนวน 10 ล้านสปีชีส์ดังกล่าว มีไม่ถึง 100,000 สปีชี่ส์ที่นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุการจัดเรียงลำดับพันธุกรรมได้ และมีเพียง 10,000 สปีชี่ส์ที่สามารถเลี้ยงให้เจริญเติบโตในห้องทดลอง
นั่นหมายความว่ายังมีเชื้อจุลินทรีย์ที่รอการค้นพบอีกมากกว่า 100,000 เท่าของที่เรารู้จัก และอีก 100 ล้านเท่า ที่ยังต้องวิจัยศึกษา