Your browser doesn’t support HTML5
ด็อกเตอร์ Robert Harrison ผู้เชี่ยวชาญแห่งวิทยาลัยการแพทย์เขตร้อน Liverpool School of Tropical Medicine กล่าวว่างูพัฟแอดเดอร์ (Puff adder) และงูพิษชนิดอื่นๆ ในแอฟริกาทางใต้ของทะเลทรายซาฮาร่าเป็นต้นเหตุให้คนเสียชีวิตถึงปีละ 32,000 คน นอกจากนี้ยังมีคนที่รอดชีวิตจากพิษงูราว 100,000 ที่กลายเป็นผู้พิการเพราะสูญเสียแขนหรือขา
วิธีการผลิตเซรุ่มต้านพิษงูเป็นวิธีที่ใช้เวลาและเสียค่าใช้จ่ายสูง จะต้องเก็บรักษาเซรุ่มที่ผลิตในตู้เย็น เหยื่อที่ถูกงูกัดต้องได้รับการรักษาหลายครั้งและอาจมีผลข้างเคียงจากการบำบัด
เซรุ่มหนึ่งเข็มมีราคา 140 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ดังนั้นการรักษาเต็มขั้นอาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายถึง 500 ดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือราวหนึ่งหมื่นห้าพันบาท ซึ่งแพงเกินไปสำหรับชาวแอฟริกาในเขตชนบท นอกจากนี้ อุปสรรคอีกอย่างหนึ่งก็เกิดจากข้อจำกัดที่ว่าไม่สามารถนำเซรุ่มแต่ละชนิดไปรักษาพิษของงูข้ามชนิดได้นอกจากเป็นงูสายพันธุ์เครือญาติกันเท่านั้น ดังนั้นแพทย์จะต้องระบุให้ได้ว่างูพิษที่กัดเป็นงูอะไร
ขณะนี้ เซรุ่มแก้พิษงูที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาโดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากวิทยาลัยการแพทย์เขตร้อน Liverpool พัฒนาขึ้นใช้เป็นการเฉพาะกับประเทศไนจีเรียได้พิสูจน์แล้วว่ามีราคาย่อมเยาและมีประสิทธิภาพ
ด็อกเตอร์ Harrison กล่าวว่าทีมงานของตนใช้เซรุ่มที่พัฒนาขึ้นนี้ เป็นตัวเริ่มต้นในการพัฒนาเซรุ่มรักษาพิษงูแบบครอบคลุมทุกชนิดทุกประเภทของงูพิษที่พบในแอฟริกาทางใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า
ด็อกเตอร์ Harrison กล่าวว่าทีมงานระบุตัวโปรตีนชนิดต่างที่มีลักษณะเฉพาะตัวในพิษงูทุกชนิดและทำการสกัดโปรตีนลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละชนิดออกมา แล้วนำไปผสมในเซรุ่มต้นตำรับไนจีเรีย
เพื่อทำการนี้ ทีมนักวิจัยทำการรีดเซรุ่มเป็นประจำจากงูพิษจำนวน 450 ตัวซึ่งเป็นงูพิษร้ายแรง 21 ชนิดที่พบในแอฟริกาทางใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า
ทีมนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าเซรุ่มแก้พิษงูที่ครอบคลุมงูพิษทุกชนิดนี้จะมีราคาที่ย่อมเยากว่าเซรุ่มแก้พิษงูที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันและมีฤทธิ์นานกว่า
ทีมงานผู้คิดค้นจะจัดเก็บเซรุ่มแก้พิษงูครอบจักรวาลนี้ในระดับอุณหภูมิห้องเป็นเวลานานหนึ่งปีและได้กำหนดว่าจะนำไปทดสอบในเดือนกรกฏาคม ปีพุทธศักราช 2561 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า