Your browser doesn’t support HTML5
รายงานผลการวิจัยเรื่องนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Geophysical Research Letters ไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยชี้ว่าทุกปีๆ ลมได้พัดเอาฝุ่นผงจากทะเลทรายซาฮาร่าข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังเขตลุ่มน้ำอะเมซอนในปริมาณที่มากพอที่จะทดแทนสารฟอสฟอรัสในหน้าดินในพื้นที่ซึ่งถูกชะล้างไปกับน้ำฝนและน้ำท่วม
คุณ Joseph Prospero นักวิทยาศาสตร์ด้านบรรยากาศแห่งมหาวิทยาลัยไมอามี่กล่าวว่าจากภาพถ่ายทางดาวเทียม พายุทะเลทรายที่พัดเอาฝุ่นผงจากทะเลทรายซาฮาร่าข้ามไปยังเขตลุ่มน้ำอะเมซอนมีขนาดใหญ่มาก มีขนาดใหญ่เป็นที่สองรองจากก้อนเมฆเท่านั้น
คุณ Prospero สังเกตุพบเป็นครั้งแรกในช่วงคริสตศวรรษที่ 1970 ว่าลมสามารถพัดพาเอาปริมาณฝุ่นผงจากทะเลทรายซาฮาร่าข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกในปริมาณมากพอสมควร
เขากล่าวว่าไม่สามารถวัดได้ชัดเจนว่ามีฝุ่นผงปริมาณมากเท่าใดที่ถูกพัดพาจากทะเลทรายซาฮาร่าข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังเขตป่าอะเมซอน แต่เขาเชื่อว่าเป็นฝุ่นผงในปริมาณมากทีเดียวเพราะทุกครั้งที่ฝนตกในประเทศบาร์บาโดสและในเมืองไมอามี่ในรัฐฟลอริด้าในช่วงฤดูร้อน เขาพบว่ามีโคลนสะสมอยู่ที่ก้นถังน้ำที่ใช้รองรับน้ำฝนจากท้องฟ้าโดยตรง
ฝุ่นผงดังกล่าวอาจจะส่งผลให้คุณภาพอากาศแย่ลงแต่ผลการศึกษาเรื่องนี้ชี้ว่าฝุ่นผงดังกล่าวมีคุณประโยชน์เช่นกัน ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้วิธีการวัดด้วยดาวเทียมเพื่อช่วยติดตามดูฝุ่นผงขณะที่ถูกลมพัดข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังฝั่งลุ่มน้ำอะเมซอน
ตลอดช่วง 7 ปี ทีมงานพบว่าลมพัดเอาฝุ่นปริมาณเฉลี่ย 28 ล้านเมตริกตันต่อปีไปยังเขตลุ่มน้ำอะเมซอนในทวีปอเมริกาใต้ซึ่งรวมเอาฟอสฟอรัส 22,000 ตันเข้าไว้ด้วย ฟอสฟอรัสมีคุณต่อการเจริญเติบโตของพืชและเป็นส่วนประกอบหลักในปุ๋ยเคมี
คุณ Hongbin Yu นักวิทยาศาสตร์ด้านบรรยากาศแห่งมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกทีมวิจัยทีมนี้กล่าวว่านี่แสดงว่าฝุ่นผงจากทะเลทรายซาฮาร่าในแอฟริกาน่าจะมีบทบาทช่วยทดแทนการสูญเสียฟอสฟอรัสจากดินในลุ่มน้ำอะเมซอน
เขากล่าวด้วยว่าการศึกษาชิ้นก่อนหน้านี้ชี้ว่าฝุ่นผงจากทวีปเอเชียได้มีส่วนช่วยในการคงความอุดมสมบูรณ์ของป่าฝนบนเกาะฮาวายในสหรัฐ มานานนับพันปีและยังมีการศึกษาชิ้นอื่นๆ อีกหลายชิ้นที่พบว่ามลพิษทางอากาศจากเอเชียพัดข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมายังสหรัฐได้ด้วย
เขากล่าวว่าผลการศึกษาเหล่านี้ช่วยย้ำให้เราเห็นว่าโลกใบเล็กที่เราอาศัยอยู่นี้มีความเกี่ยวเนื่องถึงกันและกันเกินกว่าที่เราจะคาดคิด