นักวิจัยพัฒนาวิธีสร้างกล้ามเนื้อหัวใจแบบใหม่ด้วยสารเคลือบเซลล์จาก 'หัวใจปลาม้าลาย'

Your browser doesn’t support HTML5

นักวิจัยในสหรัฐฯ พัฒนาวิธีสร้างกล้ามเนื้อหัวใจ

Your browser doesn’t support HTML5

Science Heart Regeneration

'ปลาม้าลายน้ำจืด' เป็นปลาที่คนนิยมเลี้ยงไว้ดูเล่น ปลาม้าลายเป็นปลาในกลุ่มปลาซิว นอกจากจะสวยงามเเล้ว ยังเป็นปลาที่มีคุณสมบัติพิเศษที่นักวิทยาศาสตร์สนใจศึกษาในห้องทดลอง เพราะปลาชนิดนี้สามารถสร้างอวัยวะใหม่ขึ้นทดแทนอวัยวะที่เสียหายได้ ไม่ว่าจะเป็นครีบ ผิวหนังหรือหัวใจ

Yadang Wang นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Pittsburgh กล่าวว่า หากตัดเอา 20 เปอร์เซ็นต์ของหัวใจของปลาม้าลายทิ้ง ปลาจะสร้างกล้ามเนื้อหัวใจใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งเป็นความสามารถที่น่าทึ่งมาก ทำให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ของเขาคิดว่า อาจเป็นไปได้ที่เนื้อเยื่อจากหัวใจของปลาม้าลายอาจสามารถช่วยสร้างเนื้อเยื่อหัวใจแก่หัวใจคนที่เสียหาย

ทีมนักวิทยาศาสตร์จึงเริ่มทดลองนำสารเคลือบเซลล์ที่เรียกว่า extracellular matrix หรือ ECM ที่ได้จากหัวใจของปลาม้าลาย ฉีดเข้าไปในหัวใจของหนูทดลองที่กล้ามเนื้อเสียหายรุนแรง

ทีมงานพบว่าหนูทดลองสามารถสร้างกล้ามเนื้อหัวใจใหม่ขึ้นมาทดแทนได้ภายในไม่กี่วัน

ความรวดเร็วของการสร้างกล้ามเนื้อหัวใจขึ้นมาใหม่จะยิ่งรวดเร็วมากขึ้น หากทีมนักวิทยาศาสตร์นำสารเคลือบเซลล์ หรือ ECM จากหัวใจของปลาม้าลาย ในขณะที่ปลาม้าลายตัวนั้นกำลังอยู่ระหว่างการสร้างเนื้อเยื่อหัวใจใหม่ขึ้นทดแทนเนื้อเยื่อที่เสียหาย

Yadang Wang สมาชิกทีมนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Pittsburgh กล่าวว่า นี่เเสดงว่าสารเคลือบเซลล์ หรือ ECM ที่ได้จากปลาม้าลายที่กำลังอยู่ระหว่างสร้างเนื้อเยื่อหัวใจใหม่ขึ้นทดแทนกล้ามเนื้อที่สูญเสียไป จะยิ่งมีประสิทธิภาพสูงขึ้นไปอีก

ทีมนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า โมเลกุลตัวที่เรียกว่า neuregulin 1 น่าจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อใหม่

Yadang Wang กล่าวว่า ทีมงานพบว่าปลาม้าลายมีจำนวนโมเลกุล neuregulin 1 มากกว่าหนูทดลอง และหัวใจของปลาม้าลายที่กำลังอยู่ระหว่างการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ยิ่งมีโมเลกุลชนิดนี้สูงขึ้นไปกว่าปกติ

เขากล่าวว่าข้อมูลนี้ทำให้ทีมงานเชื่อว่า โมเลกุล neuregulin 1 น่าจะมีบทบาทในการกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อหัวใจขึ้นมาใหม่ แต่เขาชี้ว่าเพื่อยืนยันเรื่องนี้ ต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไป

ในขั้นต่อไป ทีมนักวิทยาศาสตร์วางเเผนที่จะนำสารเคลือบเซลล์ หรือ ECM ที่ได้จากหัวใจของปลาม้าลายไปทดลองกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ขึ้น

(รายงานโดย George Putic / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทย)