Your browser doesn’t support HTML5
ในพื้นที่ลุ่มน้ำที่หุบเขาฮูลา (Hula Valley) ในอิสราเอล มีนกกระเรียนอพยพหลายพันตัวพากันไปอาศัยอยู่ชั่วคราวในช่วงอพยพหนีหนาว เเทนที่จะเดินทางต่อไปตามเส้นทางอพยพประจำปี ซึ่งไปสิ้นสุดที่พื้นที่ราบของแอฟริกา เเละบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งเเวดล้อมชี้ว่าสาเหตุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโลก
เชย์ อักมอน (Shay Agmon) ผู้ประสานงานสัตว์ปีกเเห่งอุทยานลุ่มน้ำ อะกามอน ฮูลา (Agamon Hula) ที่มีคนงานกำลังเฝ้าติดตามดูนกอพยพเเละให้อาหารนกอพยพ กล่าวว่า สภาพเเห้งเเล้งที่รุนเเรงขึ้นทั่วแอฟริกา เป็นเหตุให้นกอพยพหลายชนิดเข้าไปอาศัยในอุทยานเเห่งนี้ในอิสราเอล เพราะชุ่มน้ำ เขียวชะอุ่มเเละเย็นกว่า
เชย์ อักมอน ผู้ประสานงานสัตว์ปีกเเห่งอุทยานลุ่มน้ำ Agamon Hula ในอิสราเอล กล่าวว่า นกทุกชนิดที่พยายามเดินทางจากทางตะวันตกเฉียงเหนือ จากยุโรปตอนกลางเเละยุโรปตะวันออก ตลอดจนเอเชียตะวันตก เพื่อไปยังแอฟริกา จะต้องบินผ่านอุทยานเเห่งนี้ในอิสราเอล เเละมักหยุดพักเพื่อหาอาหารกิน เก็บเรี่ยวเเรงเพื่อเดินทางต่อไป
เเต่ในปัจจุบัน เขตทะเลทรายเเห่งต่างๆ ขยายใหญ่ขึ้นกว่าเดิมเพราะความเเห้งเเล้ง ทำให้นกต้องเดินทางไกลกว่าเดิม
ศาสตราจารย์ ยอสสิ เลเเชม (Yossi Leshem) ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตววิทยาเเห่งมหาวิทยาลัยเทล อาวีฟ (Tel Aviv) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการอพยพของนกเเบบนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกร เขากล่าวว่า นกอพยพขนาดเล็ก เมื่อบินเข้าไปในไร่ในแอฟริกา นกจะกินเเมลงที่เป็นศัตรูพืชเป็นอาหาร ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกร เเต่หากนกเหล่านี้ไม่เดินทางไปที่นั่น เกษตรกรจะต้องใช้ยาฆ่าเเมลงมากขึ้นในการกำจัดเเมลงศัตรูพืช ต้องจ่ายเงินมากขึ้น เเละยังเป็นอันตรายต่อชีวิตนกเเละคนอีกด้วย
เชย์ อักมอน กล่าวว่า การเปลี่ยนเส้นทางอพยพของนกไปทางเหนือมากขึ้นทำให้คนมีบทบาทมากขึ้นในการดูแลสิ่งเเวดล้อม เขากล่าวว่า ตั้งเเต่นี้ต่อไป ในเกือบทุกเเง่มุมของการอนุรักษ์ธรรมชาติ จะกลายเป็นภาระของคนมากขึ้น คนจะต้องรับมือกับปัญหาทุกอย่างทางธรรมชาติเอง เเละต้องรับผิดชอบในเรื่องการดูแลสภาพแวดล้อม สุขภาพเเละความเป็นอยู่ที่ดีของสัตว์ทุกชนิด
เชย์ อักมอน กล่าวว่า ตั้งเเต่ช่วงยุค 1950 เป็นต้นมา จำนวนนกอพยพที่เปลี่ยนมาพักพิงในอิสราเอลจนถึงเดือนมีนาคมเเทนที่จะเดินทางต่อไปยังทวีปแอฟริกาได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)