Your browser doesn’t support HTML5
ประเทศต่างๆ ในเทือกเขาแอนดีส ไม่ว่าจะเป็นโบลิเวีย เอกวาดอร์และเปรู ต่างพึ่งพาแหล่งน้ำที่มาจากแผ่นน้ำแข็งบนยอดเทือกเขาแอนดีสเป็นหลัก แต่รายงานของธนาคารโลกปีคริสตศักราช 2009 เตือนว่าภาวะโลกร้อนอาจจะทำให้แผ่นน้ำแข็งในเทือกเขาแอนดีสละลายหายไปในที่สุด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำ แหล่งพลังงานและแหล่งอาหารในประเทศเหล่านี้
เท่าที่ผ่านมาตลอดช่วง 30 ปี แผ่นน้ำเเข็งเขตร้อนเหล่านี้สูญเสียปริมาณน้ำแข็งและหิมะไปแล้วมากกว่า 1 ใน 5
คุณ Lonnie Thompson ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงของภาวะอากาศ กล่าวว่าสักวันหนึ่ง แผ่นน้ำเเข็ง Quelccaya บนเทือกเขาแอนดีสที่เปรูจะหมดไปจากโลก เช่นเดียวกับหลักฐานของการเปลี่ยนแปลงทางภาวะอากาศที่ฝังอยู่ในแผ่นน้ำแข็ง
ทำให้บรรดานักวิทยาศาสตร์เร่งเข้าไปเก็บตัวอย่างน้ำเเข็งจากแผ่นน้ำเเข็งแห่งนี้ ก่อนที่มันจะหายสาปสูญไปพร้อมกับแผ่นน้ำแข็งที่ละลายอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากโลกอุ่นขึ้น
การวิเคราะห์ฟองอากาศและฝุ่นที่ติดอยู่ในแผ่นน้ำแข็ง จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถเรียนรู้ถึงประวัติการเกิดภาวะโลกร้อน กับการเกิดภูเขาไฟระเบิดครั้งต่างๆ ในอดีตนักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานที่ชี้ว่า มลภาวะที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์เกิดขึ้นในทวีปอเมริกาใต้ในคริสต์ศวรรษที่ 16 สมัยที่นักล่าอณานิคมจากสเปนเริ่มบังคับให้คนท้องถิ่นเริ่มขุดเหมืองเเร่เงิน
คุณ Emilie Beaudon นักวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้ชี้ว่า เนื่องจากแผ่นน้ำแข็งจะละลายต่อไปและฝุ่นผงและสิ่งที่ปะปนอยู่ในแผ่นน้ำแข็งก็จะหลุดออกมาอยู่ในสิ่งแวดล้อม เธอกล่าวว่าทีมนักวิทยาศาสตร์ต้องการศึกษาปริมาณของสิ่งปะปนเหล่านี้และศึกษาว่ามันจะมีผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์หรือไม่
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเริ่มมีปริมาณมลพิษสูงที่สุดและแผ่นน้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็วที่สุดในช่วงคริสต์ศวรรษที่ 20 ภาพถ่ายหลายชุดที่ถ่ายในช่วงระยะเวลา 33 ปีติดต่อกัน แสดงให้เห็นแผ่นน้ำแข็งแผ่นหนึ่งในพื้นที่ละลายไปแล้วครึ่งหนึ่ง
คุณ Roxana Sierra นักวิจัยอีกคนหนึ่งกล่าวว่าแผ่นน้ำเเข็งเขตร้อนเหล่านี้เริ่มละลายมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากระดับอุณหภูมิที่สูงขึ้นและหากอุณหภูมิโลกยังสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้มีปริมาณไอโซโทปเพิ่มสูงขึ้น
บรรดานักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าแผ่นน้ำแข็ง Quelccaya บนเทือกเขาแอนดีสในเปรูเป็นหนึ่งในไม่กี่จุดทั่วโลก ที่นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาผลกระทบจากกิจกรรมมนุษย์ในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมต่อคุณภาพของอากาศ