สำนักข่าวต่างชาติต่างเกาะติดเสนอข่าวเหตุการณ์รถโดยสารของโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี เกิดเพลิงไหม้ขณะอยู่บนถนนพหลโยธิน มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ ในวันอังคารที่ 1 ตุลาคม
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 23 คนจากเหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้ขณะนำคณะครูและนักเรียนรวมมากกว่า 40 คนไปทัศนศึกษาไม่ไกลจากกรุงเทพฯ
ขณะที่สำนักข่าวบีบีซี รายงานว่า เจ้าหน้าที่ชันสูตรเปิดเผยว่าศพ 23 ศพที่พบนั้นเป็นชาย 11 คน หญิง 7 คน ส่วนที่เหลือยังไม่สามารถระบุได้
ภาพในสื่อสังคมออนไลน์และในรายงานข่าวต่าง ๆ แสดงให้เห็นควันไฟพวยพุ่งออกมาจากรถบัสที่เกิดไฟไหม้ ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังพยายามควบคุมเปลวเพลิง โดยช่างภาพของรอยเตอร์ระบุว่ามีรถดับเพลิง รถตำรวจและรถกู้ภัยจำนวนมากจอดรอบรถบัสที่ถูกไฟครอกจนกลายเป็นสีดำทั้งคัน
Your browser doesn’t support HTML5
สำนักข่าววอชิงตันโพสต์ รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของไทย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวกับผู้สื่อข่าว ณ จุดเกิดเหตุว่า รถบัสคันนี้ใช้เชื้อเพลิงเป็นแก๊สซึ่งมีราคาถูกกว่าน้ำมัน แต่ก็สามารถระเบิดและเกิดเพลิงไหม้รุนแรงกว่าเช่นกัน พร้อมยืนยันว่าทางกระทรวงฯ จะหามาตรการเพื่อไม่ให้ยานพาหนะโดยสารลักษณะนี้ใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวเนื่องจากเป็นอันตรายอย่างยิ่ง
ด้านนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร มีแถลงการณ์ว่า รัฐบาลจะดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต พร้อมกล่าวว่า “ในฐานะแม่ ดิฉันขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต”
ทางสำนักข่าวเอพี รายงานว่า นายกฯ หญิงของไทยซึ่งมีบุตรสองคน มีน้ำเสียงสั่นเครือและได้นำกระดาษทิชชูขึ้นมาเช็ดน้ำตาขณะเดินขึ้นทำเนียบรัฐบาลด้วย
ทางเอพีได้สอบถาม ปิยะลักษณ์ ถิ่นขาว เจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญู ซึ่งบอกว่าศพส่วนใหญ่ถูกพบที่บริเวณตอนกลางและตอนหลังของรถบัส ทำให้เชื่อว่าไฟไหม้อาจเริ่มขึ้นในส่วนด้านหน้าของรถและพวกเขาพยายามหนีไปด้านหลัง
ด้าน พล.ต.อ. กิตติ์รัตน์ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า บริษัทเจ้าของรถและผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกตั้งข้อหาหากพบว่ามีส่วนรับผิดชอบ โดยจะไม่มีการบิดเบือนความจริงหรือช่วยเหลือใคร
เอพีรายงานว่า เหตุการณ์นี้ได้ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงความปลอดภัยของเด็กนักเรียนที่ต้องเดินทางไปทัศนศึกษาระยะทางไกลนานหลายชั่วโมง บนท้องถนนที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตในระดับสูง
ขณะที่บีบีซี ระบุว่า ประเทศไทยคือหนึ่งในประเทศที่มีประวัติความปลอดภัยบนถนนย่ำแย่ที่สุดในโลก โดยองค์การอนามัยโลกประเมินว่า แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตราว 20,000 คน บาดเจ็บอีก 1 ล้านคนจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทย
- ข้อมูลบางส่วนจากเอพี รอยเตอร์ วอชิงตันโพสต์ และบีบีซี