หลังจากเศรษฐกิจรัสเซียประสบปัญหามาตั้งแต่ต้นปีที่แล้วหลังจากที่เผชิญมาตรการลงโทษอย่างหนักจากชาติตะวันตก ดูเหมือนขณะนี้ภาคการนำเข้าของรัสเซียกำลังกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง พร้อมสัญญาณว่าเศรษฐกิจของรัสเซียอาจกลับมาขยายตัวอีกเร็ว ๆ นี้
ในสัปดาห์นี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของรัสเซียจะเติบโต 0.3% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะหดตัวลงถึง 2.3%
มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจที่ชาติตะวันตกนำมาใช้กับรัสเซียสืบเนื่องจากการรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ซึ่งรวมถึงการลงโทษเจ้าหน้าที่ระดับสูง นักธุรกิจ และนิติบุคคลหลายแห่งในรัสเซีย การจำกัดการส่งออกพลังงานและสินค้าต่าง ๆ ตลอดจนการห้ามบริษัทข้ามชาติส่งออกสินค้าไปยังรัสเซีย ทำให้เกิดการคาดหมายว่าในที่สุดแล้วเศรษฐกิจรัสเซียอาจต้องล้มครืนลง
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นใหม่พบว่า การหาเส้นทางขนส่งสิน้คาและวัตถุดิบใหม่ ๆ และการเปลี่ยนไปใช้สินค้าทดแทนที่ผลิตในประเทศที่เป็นมิตรกับรัสเซีย เช่น จีน แทนผลิตภัณฑ์ของชาติตะวันตก ได้ช่วยให้ภาคการนำเข้าของรัสเซียกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
ถึงกระนั้น นักวิเคราะห์ชี้ว่า การที่รัสเซียต้อง "เปลี่ยนเส้นทาง" ไปใช้สินค้าจากประเทศที่สามแทน ได้ทำให้ราคาที่รัสเซียต้องจ่ายสำหรับสินค้าหลายประเภทพุ่งสูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ชาวรัสเซียอาจต้องยอมใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนที่มีคุณภาพต่ำลง โดยเฉพาะสินค้าอิเลคทรอนิกส์ต่าง ๆ
การฟื้นตัวของการนำเข้า
รายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Silverado Policy Accelerator ชี้ว่า ปริมาณการนำเข้าของรัสเซียลดลงจริงในช่วงเดือนแรก ๆ หลังจากการรุกรานยูเครน แต่ก็เริ่มฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนสงครามตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ปริมาณการส่งออกสินค้าจากสหภาพยุโรปไปยังรัสเซียลดลง 52% หรือราว 4,600 ล้านดอลลาร์ระหว่างเดือนตุลาคมปี 2021 - 2022 ขณะที่ปริมาณการส่งออกของสหรัฐฯ และอังกฤษไปยังรัสเซียในช่วงเดียวกัน ลดลงในระดับ 85% และ 89% ตามลำดับ
รายงานของ Silverado ชี้ว่า ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ปริมาณการส่งออกสินค้าจากจีน เบลารุส ตุรกี คาซัคสถาน อาร์เมเนีย อุซเบกิสถาน และเคอร์จีซสถาน ไปยังรัสเซีย กลับเพิ่มขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ รายงานยังพบด้วยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าจากชาติตะวันตกในประเทศเหล่านั้น เช่น โทรศัพท์มือถือของ Apple และ Samsung ซึ่งหยุดทำธุรกรรมกับรัสเซียไปแล้วนั้น กลับเพิ่มขึ้นอย่างมากในบรรดาประเทศอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียตด้วย
ประสิทธิผลของมาตรการลงโทษ?
คำถามสำคัญที่ตามมาคือ มาตรการลงโทษที่ชาติตะวันตกนำมาใช้กับรัสเซียนั้นได้ผลแค่ไหน?
เจฟฟรีย์ โชตต์ นักวิชาการแห่ง Peterson Institute for International Economics กล่าวกับวีโอเอว่า "มาตรการลงโทษรัสเซียนั้นไม่ครอบคลุมเพียงพอ" เมื่อพิจารณาจากเป้าหมายหลักที่มุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมการทหารของรัสเซีย และทำให้กองทัพรัสเซียเข้าถึงเทคโนโลยีหรือทรัพยากรต่าง ๆ ได้ยากขึ้น
ที่ผ่านมา รัสเซียยังคงสามารถขายสินค้าหลักในตลาดโลกได้ รวมถึง น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ปุ๋ย ยูเรเนียมและอาหารต่าง ๆ ทำใหมีรายได้มาสนับสนุนภาคการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นของรัสเซียเป็นผลมาจากการที่ผู้นำเข้าสามารถหาช่องทางเลี่ยงมาตรการลงโทษทางการเงินและการธนาคารจากชาติตะวันตกได้ด้วยเช่นกัน
- ที่มา: วีโอเอ