สมาชิกถาวรขององค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Cooperation in Europe) จัดประชุมกับผู้แทนรัสเซียในวันพฤหัสบดี ที่กรุงเวียนนา เพื่อหารือแนวทางลดความตึงเครียดบริเวณพรมแดนรัสเซีย-ยูเครน
ก่อนหน้านี้ ผู้แทนรัสเซียเพิ่งจบการประชุมทวิภาคีกับสหรัฐฯ ที่นครเจนีวาเมื่อวันจันทร์ และการเจรจากับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต้ เมื่อวันพุธ ในประเด็นเดียวกัน
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เน็ด ไพรซ์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "หลังจากการประชุมทั้งสามครั้ง ผู้แทนของรัสเซียจะต้องกลับไปรายงานต่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ซึ่งหวังว่าผู้นำรัสเซียจะเลือกหนทางและสันติภาพและความมั่นคง และรับรู้ถึงความจริงใจของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้เกิดแนวทางทางการทูตและการเจรจา"
สหรัฐฯ และพันธมิตรองค์การนาโต้ต้องการให้รัสเซียลดระดับความตึงเครียดกับยูเครน และแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี โดยเมื่อวันพุธ สหรัฐฯ และนาโต้ได้เสนอให้มีแนวทางสองฝ่ายเพื่อลดความเสี่ยง เพิ่มความโปร่งใสและการสื่อสารระหว่างกัน ตลอดจนการควบคุมจำกัดอาวุธ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เวนดี้ เชอร์แมน ซึ่งเป็นผู้นำคณะผู้แทนอเมริกันในการเจรจาที่กรุงบรัสเซลล์เมื่อวันพุธ กล่าวว่า การหารือระหว่างรัสเซียกับนาโต้ที่ใช้เวลา 4 ชั่วโมง จบลงโดยที่ยังไม่มีการให้คำมั่นว่าจะลดระดับความตึงเครียด และไม่มีคำแถลงใด ๆ ในเรื่องนี้
รัฐมนตรีเชอร์แมนกล่าวว่า รัสเซียได้รับทราบอย่างชัดเจนว่า เป็นเรื่องยากที่จะผลักดันให้เกิดแนวทางทางการทูต ในเมื่อทหารรัสเซีย 100,000 คนยังคงประจำการอยู่บริเวณพรมแดนติดกับยูเครน และยังมีการซ้อมรบแบบใช้กระสุนจริงในบริเวณนั้น
ทางด้านเลขาธิการองค์การนาโต้ เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก กล่าวว่า ตนได้เสนอไปยังรัสเซียให้มีการเจรจาอีกหลายครั้งหลังจากนี้ ซึ่งทางรัสเซียจะนำกลับไปพิจารณา
ที่ผ่านมา รัสเซียต้องการให้องค์การนาโต้รับประกันด้านความมั่นคงในหลายประเด็น เช่น การถอนทหารและอุปกรณ์ทางการทหารออกจากประเทศที่มีพรมแดนติดกับรัสเซีย และจำกัดการขยายกำลังทางทหารของประเทศสมาชิกองค์การนาโต้ 30 ประเทศ นอกจากนี้ รัสเซียยังปฏิเสธว่าไม่มีแผนที่จะส่งกำลังทหารบุกยูเครนแต่อย่างใด
ขณะเดียวกันในกรุงวอชิงตัน บรรดาสมาชิกพรรคเดโมแครตต่างเสนอมาตรการลงโทษชุดใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้รัสเซียใช้แนวทางที่ก้าวร้าวทางทหารเพื่อบุกรุกยูเครน ภายใต้ร่างกฏหมาย Defending Ukraine Sovereignty Act of 2022 ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ภาคการธนาคารของรัสเซีย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลและกองทัพรัสเซียด้วย
โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยืนยันก่อนหน้านี้ว่าจะไม่ใช้การเผชิญหน้าทางทหารกับรัสเซียในกรณีที่รัสเซียบุกยูเครนจริง ๆ แต่จะสนับสนุนให้ใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงหากรัสเซียทำเช่นนั้นจริง
- ข้อมูลบางส่วนจากสำนักข่าวเอพี และรอยเตอร์