เผยภารกิจลับสุดยอดใต้ทะเลหลังเหตุเพลิงไหม้เรือดำน้ำจารกรรมพลังนิวเคลียร์ของรัสเซีย

A picture taken July 2, 2019, shows an unidentified submarine in the port of Severomorsk, in Russia.

Your browser doesn’t support HTML5

เบื้องลึกเหตุการณ์เรือดำน้ำรัสเซียไฟไหม้

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เกิดเพลิงไหม้ในเรือดำน้ำจารกรรมพลังนิวเคลียร์ชื่อ Losharik ของรัสเซีย ระหว่างที่ปฏิบัติงานอยู่ในมหาสมุทรอาร์คติกใกล้ขั้วโลกเหนือ ทำให้เจ้าหน้าที่ประจำเรือเสียชีวิต 14 คน

ทางการรัสเซียระบุสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้แต่เพียงว่าเป็นเพลิงไหม้ที่เริ่มมาจากห้องกำเนิดพลังงานในเรือ อย่างไรก็ตามความสนใจของสื่อมวลชนทั่วโลกอยู่ที่ว่าจะมีกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลออกมาหรือไม่

เรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ Losharik ของรัสเซียความยาวประมาณ 70 เมตรนี้เริ่มเข้าประจำการเมื่อ 16 ปีที่แล้ว และสามารถดำน้ำได้ลึก 6,000 เมตร โดยสังกัดอยู่กับกองบัญชาการวิจัยใต้ทะเลลึกของรัสเซียที่มีชื่อย่อว่า GUGI และหน่วยงานนี้ขึ้นตรงกับฝ่ายเสนาธิการของกองทัพรัสเซีย

ทำเนียบเครมลินไม่ได้ยอมรับข่าวนี้จนกระทั่งเวลาผ่านไปแล้ว 24 ชั่วโมง และชาวประมงนอรเวย์ผู้เห็นเหตุการณ์บอกกับสื่อมวลชนว่า เห็นเรือดำน้ำดังกล่าวลอยลำขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างรวดเร็ว ใกล้อ่าวอูราที่อยู่ห่างจากพรมแดนของนอรเวย์ราว 100 ก.ม.

และได้เห็นการลำเลียงศพลูกเรือผู้เสียชีวิตซึ่งคาดว่ามาจากแก๊สพิษ ไปยังเรือแม่ชื่อ Belgorod ด้วย

SEE ALSO: รัสเซียยืนยันเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ไม่เสียหายจากเหตุไฟไหม้เรือดำน้ำดับ 14 ราย

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนทั่วโลก และนาย Carl Bildt อดีตนายกรัฐมนตรีสวีเดน ซึ่งเป็นประธานร่วมของสถาบันวิจัยชื่อ European Council on Foreign Relations ได้ทวีตว่า เรือ Losharik เป็นเรือดำน้ำขนาดเล็กที่ทันสมัยและเป็นหนึ่งในบรรดาเรือที่มีภารกิจลับสุดยอดของรัสเซีย

นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงของประเทศตะวันตกให้ข้อมูลด้วยว่า เรือดำน้ำรุ่นดังกล่าวมีอุปกรณ์เก็บข้อมูลใต้ทะเลที่ทันสมัย รวมทั้งมีระบบสำรวจและเก็บข้อมูลด้วยคลื่นเสียง นอกจากนั้นยังสามารถเฝ้าสังเกต ดักฟัง และตัดสายเคเบิ้ลสื่อสารใต้น้ำ ตลอดจนสามารถสอดแนมเรือดำน้ำของต่างชาติและติดตามการเคลื่อนตัวของภูเขาน้ำแข็งในทะเลด้วย

A Russian navy officer lights a candle as he pays his last respect at the grave of Captain 3rd rank Vladimir Sukhinichev, one of the 14 crew members who died in a fire on a Russian navy's deep-sea research submersible.

ที่สำคัญก็คือ นักวิเคราะห์เชื่อว่าเรือในกองเรือ GUGI นี้สามารถวางทุ่นเสียงที่ก้นทะเลลึกเพื่อส่งสัญญาณกลบหรืออำพรางคลื่นเสียง เวลาที่เรือดำน้ำของรัสเซียแล่นออกจากฐานทัพที่คาบสมุทรโคล่าไปยังมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือด้วย

ภารกิจและขีดความสามารถของกองเรือดำน้ำเพื่อการวิจัยใต้ทะเลของรัสเซียนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะกระทรวงกลาโหมสหรัฐเคยเตือนว่า เครมลินให้ความสำคัญอย่างมากกับการรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการครอบครองความเป็นต่อทางทหารในบริเวณขั้วโลกเหนือมานานแล้ว

Russia, Moscow, Russia's President Vladimir Putin meets with Defence Minister Sergei Shoigu to discuss a recent incident with a Russian deep-sea submersible

โดยเครมลินมองว่ามหาสมุทรอาร์คติกนั้นเป็นแหล่งแร่ธรรมชาติที่สำคัญ และเมื่อสองปีที่แล้ว ประธานาธิบดีปูตินได้กล่าวว่า ความมั่งคั่งของรัสเซียอยู่ในบริเวณขั้วโลกเหนือซึ่งมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติมูลค่าถึง 35 ล้านล้านดอลลาร์

นอกจากนั้นอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ยังเปิดโอกาสสำหรับการสำรวจหาทรัพยากรธรรมชาติบริเวณขั้วโลกเหนือและเปิดเส้นทางใหม่สำหรับการเดินเรือพาณิชย์ด้วย

คาดว่ารัสเซียจะได้ประโยชน์อย่างมากจากเรื่องนี้ เพราะราวครึ่งหนึ่งของแนวชายฝั่งของมหาสมุทรอาร์คติกนั้นติดกับพรมแดนทางเหนือของรัสเซีย