นักวิจัยอเมริกันพบว่า "Bed Bug" หรือตัวเรือดพบตามที่นอน ดื้อต่อยาฆ่าแมลง

It turns out, the insecticides used to kill bedbugs don't even scratch the surface, a study by Virginia Tech and New Mexico State University found.

นักวิจัยอเมริกันชี้ว่าต้องพัฒนายุทธวิธีใหม่ออกมาใช้กำจัดตัวเรือดหรือ Bed Bug เพาะยาฆ่าแมลงที่มีอยู่ใช้ไม่ได้ผล

Your browser doesn’t support HTML5

Resistant Bedbugs

ในรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Medical Entomology ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Virginia Tech และมหาวิทยาลัย New Mexico State University เปิดเผยว่าการใช้ยาฆ่าเเมลงมากเกินความจำเป็น ส่งผลให้แมลงต่างๆ ดื้อต่อสารเคมีกำจัดแมลง

คุณ Troy Anderson ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านแมลงแห่งภาควิชา Agriculture and Life Science มหาวิทยาลัย Virginia Tech กล่าวกับวีโอเอว่า ในขณะที่เราต้องการมีวิธีที่ได้ผลในการจัดการกับ "Bed Bug" หรือตัวเรือดที่พบตามที่นอน การใช้สารเคมีฆ่าแมลงกลับไม่ได้ผลอย่างที่ควรจะเป็น

ในทางกลับกันชาวอเมริกันต้องเสียเงินจำนวนมากไปกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ไม่ได้ผล

ทีมนักวิจัยทีมนี้ทำการศึกษาสารเคมีฆ่าเเมลงในกลุ่มที่ใช้กันทั่วไปที่เรียกว่านีโอนิโคตินอยส์ (neonicotinoids) ที่มักใช้ควบคู่กับสารไพรีทรอยส์ (pyrethroids) เพื่อใช้กำจัด Bed Bug

ด้านคุณ Alvaro Romero ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านแมลงที่มหาวิทยาลัย New Mexico State University กล่าวว่า บริษัทต่างๆ ควรเฝ้าตรวจสอบอยู่ตลอดเวลาเพื่อดูประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่มีส่วนผสมของสารนีโอนิโคตินอยส์ เขากล่าวว่าหากยังพบตัวเรือดในพื้นผิวที่บำบัดไปเเล้ว ก็เเสดงว่าแมลงเริ่มดื้อต่อสารเคมีฆ่าแมลงที่ใช้บำบัด

เพื่อระบุระดับความดื้อต่อสารเคมีของ Bed Bug ทีมนักวิจัยได้เก็บตัวอย่างของ Bed Bug จากหลายจุดด้วยกัน และเเบ่งออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มเเรกเคยถูกต้องกับสารเคมีฆ่าแมลงที่มีส่วนผสมของสารนีโอนิโคตินอยส์มาก่อนแล้ว กลุ่มที่สอง ถูกเเยกเก็บในห้องทดลองต่างหากและยังไม่เคยถูกบำบัดด้วยสารดังกล่าวมาก่อน และกลุ่มที่สาม เคยถูกฉีดด้วยสารฆ่าแมลงมาก่อนหน้าปีคริสตศักราช 2008

ทีมนักวิจัยชี้ว่า Bed Bug กลุ่มที่ไม่เคยถูกฉีดสารฆ่าแมลงชนิดนี้มาก่อน ตายทันที่ที่ถูกฉีดด้วยยาฆ่าแมลงในปริมาณเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ Bed Bug ในกลุ่มที่เคยถูกบำบัดด้วยสารเคมีดังกล่าวมาแล้วก่อนหน้าปี ค.ศ. 2008 เเสดงให้เห็นว่าเริ่มดื้อต่อยาในระดับปานกลาง

ส่วน Bed Bug กลุ่มที่เคยถูกบำบัดด้วยสารเคมีชนิดนี้มาก่อนหน้านี้อย่างต่อเนื่อง มีระดับความดื้อยาที่สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ อย่างมาก

ทีมนักวิจัยชี้ว่า เมื่อตัวเรือด Bed Bug ถูกฉีดด้วยยาฆ่าแมลงที่มีสารนิโอนิโคตินอยส์เป็นส่วนผสม จะหลั่งสารเอ็นไซม์ที่เรียกว่า detoxifying enzymes ออกมาต่อต้านฤทธิ์ของยาฆ่าแมลง และตัวเรือดในกลุ่มที่เคยถูกบำบัดด้วยยาฆ่าแมลงมาก่อนหน้านี้ สามารถสร้างเอ็นไซม์ออกมาได้มากกว่าตัวเรือดกลุ่มที่ไม่เคยถูกฉีดด้วยยาฆ่าแมลงมาก่อน

ทีมนักวิจัยชี้ว่าผลการศึกษานี้ชี้ว่าอาจจำเป็นต้องมองหาวิธีกำจัดตัวเรือด Bed Bug​ ด้วยวิธีอื่นๆ แทน

คุณ Anderson กล่าวว่าจำเป็นต้องประเมินประสิทธิภาพของยุทธวิธีที่เราใช้ในการรับมือกับตัวเรือด เพราะดูเหมือนว่าสารเคมีฆ่าแมลงที่กำลังใช้กันอยู่ในปัจจุบันใช้ไม่ได้ผล

และเมื่อพบว่าตัวเรือดเริ่มดื้อต่อยาฆ่าแมลงที่ใช้ ก็จำเป็นต้องปรับไปใช้ผลิตภัณฑ์สารเคมีชนิดอื่นๆ ที่มีฤทธิ์ต่างออกไป และต้องใช้วิธีปราบแมลงแบบปลอดสารเคมีควบคู่ไปด้วย

(เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)