Your browser doesn’t support HTML5
การที่โคโรนาไวรัสทำให้คนมีอาการป่วยนั้น จะเริ่มจากการที่เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเยื่อบุของปาก จมูก หรือดวงตา และมุ่งโจมตีที่ปอด โดยไวรัสจะใช้โปรตีนบนพื้นผิวที่มีลักษณะเหมือนปลายหนามเพื่อเกาะกับ receptor หรือตัวรับที่มีชื่อว่า ACE2 ของผนังเซลล์ในระบบทางเดินหายใจและเซลล์ในปอด
หากเชื้อไวรัสสามารถเกาะกับโปรตีนของ receptor และแทรกตัวเข้าไปในเซลส์ได้ ก็จะสร้างเปลือกหุ้มที่มีสภาพเป็นกรดล้อมตัวเองขึ้น ซึ่งจะเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ไวรัสดำรงอยู่ได้ ก่อนจะปล่อยสารพันธุกรรมของไวรัสออกมา โดยอาศัยกลไกของเซลส์เพื่อสร้างไวรัสให้เพิ่มมากขึ้น
หลังจากนั้นไวรัสก็จะเข้าไปยึดเซลส์ตัวอื่นในปอดเพื่อสร้างโรงงานในการผลิตไวรัสให้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งถือเป็นกลไกที่สำคัญของการติดเชื้อและการทวีจำนวนของไวรัสในร่างกาย โดยหลังจากนั้นเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสนี้ก็จะตายลง
จากกลไกการทำงานดังกล่าว และในขณะที่การทดลองและพัฒนาวัคซีนสำหรับโคโรนาไวรัสยังดำเนินอยู่ โดยคาดว่าจะต้องใช้เวลาราว 12-18 เดือนนั้น วงการวิทยาศาสตร์กำลังเร่งหาตัวยาใหม่ ๆ รวมทั้งหาวิธีที่จะนำยาหรือกระบวนการที่มีอยู่เดิมซึ่งได้รับอนุมัติให้ใช้กับโรคบางอย่างแล้วมาใช้กับโคโรนาไวรัส
วัตถุประสงค์ของการนำยาหรือวิธีที่มีอยู่เดิมมาทดลองเพื่อใช้รับมือกับโคโรนาไวรัสมี 3 ด้าน คือ
1. ยาที่มีฤทธิ์เพื่อจำกัดการแทรกตัวของโคโรนาไวรัสเข้าไปในเซลล์หรือทำให้ไม่เกิดการขยายตัวของโคโรนาไวรัสในร่างกายในช่วงแรกที่ได้รับเชื้อ เช่น ยา hydroxychloroquine ที่เดิมใช้กับเชื้อมาลาเรีย เช่นเดียวกับยา remdesivir ซึ่งเคยใช้กับไวรัส Ebola มาแล้ว
2. ยาเพื่อช่วยบรรเทาความรุนแรงจากเชื้อไวรัส รวมทั้งบรรเทาปฏิกิริยาซึ่งเป็นผลจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพื่อต่อต้านเชื้อที่ทำให้เกิดภาวะอักเสบอย่างรุนแรงในร่างกาย หรือ inflammation และส่งผลเสียต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญบางอย่าง เช่น ปอด และคุกคามต่อชีวิตผู้ป่วยได้ โดยตัวอย่างของยากลุ่มนี้คือยา Kevzara ที่ใช้รักษาไขข้ออักเสบ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ยาทั้งสองประเภทนี้อาจมีผลข้างเคียงในทางลบต่อสุขภาพของคนไข้ ซึ่งแพทย์กำลังพยายามศึกษาหาคำตอบอยู่
3. การช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานของคนป่วยที่รับเชื้อให้สามารถสู้กับไวรัสได้ โดยอาศัยแอนติบอดีจากพลาสม่าในเลือดของผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว หรือที่เรียกว่า convalescent plasma therapy โดยวิธีดังกล่าวก็เป็นเทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่ข้อจำกัดคืออาจจะไม่ได้ผลกับผู้ป่วยที่มีอาการหนักในระยะท้าย ๆ
โดยรวมแล้ว ขณะนี้มีการทดลองยาต่าง ๆ อยู่ราว 70 ชนิด เพื่อเร่งหาคำตอบว่ายาชนิดใดที่อาจให้ความหวังได้มากที่สุด ขณะที่โลกกำลังรอข่าวดีเรื่องวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อโคโรนาไวรัสอยู่