ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิทย์เตือน อาจเกิดผลเสียหากพัฒนาวัคซีนโคโรนาไวรัสเร็วเกินไป


ขณะนี้บริษัทผู้ผลิตยาต่าง ๆ พยายามพัฒนาวัคซีนต้านโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่โดยเร็วที่สุดเพื่อชะลอการแพร่ระบาดของโรคนี้

แต่นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์กังวลว่า การผลิตวัคซีนออกมาเร็วเกินไป อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการทำให้เชื้อไวรัสแข็งแรงขึ้น กล่าวคือ หลังจากที่ฉีดวัคซีนแล้วผู้ติดเชื้ออาจมีอาการแย่ลง

นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถระบุได้ว่าเหตุใดวัคซีนจึงอาจทำให้เชื้อไวรัสแข็งแรงขึ้น แต่เรื่องนี้ทำให้การพัฒนาวัคซีนรักษาโคโรนาไวรัสยังไม่ประสบผลสำเร็จ

ทั้งนี้โคโรนาไวรัสมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น ชนิดที่ทำให้เป็นโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงในปีพ.ศ. 2546 หรือที่เรียกว่าโรคซาร์ส (SARS) ส่วนโคโรนาไวรัสตัวอื่นๆ ก็เป็นสาเหตุของโรคระบบทางเดินหายใจในตะวันออกกลาง หรือที่รู้จักกันในชื่อ MERS และแม้กระทั่งไข้หวัดธรรมดา ส่วน COVID-19 เป็นชื่อของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่

โดยปกติแล้วนักวิจัยจำเป็นต้องทำการทดลองในสัตว์เป็นระยะเวลาหลายเดือน เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการที่วัคซีนอาจจะทำให้เชื้อไวรัสในสัตว์แข็งแรงขึ้น แต่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้ผลิตยาบางรายกำลังเดินหน้าต่อไปโดยใช้วิธีทดลองในมนุษย์ เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้อย่างรวดเร็วจนยากควบคุม

Peter Hotez หัวหน้าภาควิชา National School of Tropical Medicine ที่วิทยาลัย Baylor College of Medicine ในรัฐเท็กซัส ผู้ร่วมพัฒนาวัคซีนสำหรับโรคซาร์สในช่วงต้นคริสต์ศักราช 2000 กล่าวว่า นักวิจัยที่ทำงานในเวลานั้นพบว่า สัตว์ที่ได้รับวัคซีนบางตัวมีอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์ที่ไม่ได้รับวัคซีนในขณะที่ติดเชื้อ และว่า วิธีที่จะลดความเสี่ยงได้นั้น ก่อนอื่นจะต้องทดลองกับสัตว์เพื่อดูอาการหลังจากที่ถูกฉีดวัคซีน

Hotez กล่าวต่อคณะกรรมการรัฐสภาสหรัฐฯ ในเดือนนี้เกี่ยวกับความจำเป็นในการจัดหากองทุนสาธารณะสำหรับการวิจัยวัคซีน เพราะยังไม่มีวัคซีนใด ๆ ที่สามารถรักษาโคโรนาไวรัสที่ทำให้เกิดโรคระบาดตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมาได้

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเชื่อว่า เวลานี้การเร่งพัฒนาวัคซีนนั้นคุ้มค่าต่อความเสี่ยง

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เรียกประชุมเมื่อเดือนที่แล้วเพื่อหาทางรับมือกับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ แต่การประชุมนั้นไม่ได้มีการเผยแพร่สู่สาธารณะชน

ในการประชุมดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มวิจัยสนับสนุนจากรัฐบาลและบรรดาผู้ผลิตยาต่างเห็นพ้องว่าภัยคุกคามนั้นรุนแรง ผู้ร่วมประชุมสี่คนกล่าวกับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ว่า ผู้พัฒนาวัคซีนมีความคิดเห็นตรงกันว่าควรเร่งดำเนินการทดลองใช้วัคซีนในมนุษย์ ก่อนที่การทดลองในสัตว์จะเสร็จสิ้นลง

แต่ Marie-Paule Kieny แพทย์และอดีตเจ้าหน้าที่ของ WHO กล่าวว่า การเร่งผลิตวัคซีนอาจเป็นการสร้างความเสี่ยงใหม่ได้ ดังนั้นจำเป็นต้องหาวิธีให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด

เวลานี้นักวิจัยและบริษัทยาต่าง ๆ กำลังพัฒนาวัคซีนที่มีความเป็นไปได้อย่างน้อย 20 ชนิดเพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่

ตัวอย่างเช่น บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Moderna ร่วมกับสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในการผลิตวัคซีนหนึ่งชนิด ซึ่งทดลองใช้กับมนุษย์ไปแล้วเมื่อเร็ว ๆ นี้

NIH บอกกับรอยเตอร์ว่า การทดลองในสัตว์เพื่อดูว่าวัคซีนจะทำให้เชื้อไวรัสแข็งแรงขึ้นหรือไม่นั้น จะทำในเวลาเดียวกันกับการทดลองในของมนุษย์แบบควบคู่กันไป โดย NIH กล่าวว่า การทดลองนี้อาจใช้ระยะเวลา 14 เดือน

XS
SM
MD
LG