รีพับลิกันยืนกรานคัดค้านนโยบายเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติของกลุ่มจี-7

U.S. Treasury Secretary Janet Yellen poses as finance ministers from across the G7 nations meet at Lancaster House in London, Britain, June 5, 2021 ahead of the G7 leaders' summit.

บรรดาผู้นำพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาสหรัฐฯ ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เจเน็ท เยลเล่น ที่ต้องการให้เก็บภาษีนิติบุคคลระหว่างประเทศขั้นต่ำ และอนุญาตให้มีประเทศที่สามารถเก็บภาษีกับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ได้มากขึ้น

ข้อเสนอด้านภาษีดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ G-7 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยจะมีการเก็บภาษีนิติบุคคลระหว่างประเทศขั้นต่ำในอัตรา 15% ทั่วโลก และอนุญาตให้ประเทศต่าง ๆ สามารถเก็บภาษีได้ถึง 20% ของกำไรส่วนเกินของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีกำไรสูงสุด 100 แห่ง ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศนั้น ๆ

รัฐมนตรีเยลเล่น กล่าวว่า นโยบายด้านภาษีแบบใหม่นี้จะช่วยหยุดการกระทำของบริษัทข้ามชาติต่าง ๆ ที่เรียกว่า การแข่งขันสู่จุดต่ำสุดของภาษีระหว่างประเทศ

ข้อเสนอดังกล่าวอาจถูกนำไปขยายผลต่อในการประชุมของกลุ่ม G-20 ซึ่งเชื่อว่าจะมีประเทศเข้าร่วมมากขึ้น รวมทั้งอีกราว 140 ประเทศที่อาจเข้าร่วมเจรจาเพื่อหาทางเก็บภาษีระหว่างประเทศต่อบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติขนาดใหญ่ เช่น Google, Facebook, Amazon และ Apple ซึ่งตกเป็นเป้าของการเก็บภาษีของประเทศต่าง ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ส.ว.แพท ทูมมีย์ จากพรรครีพับลิกัน กล่าวว่า ข้อตกลงด้านภาษีฉบับนี้จะเป็นการดูดรายได้จากภาษีออกไปจากคลังของสหรัฐฯ และจะสร้างหายนะต่อเศรษฐกิจอเมริกัน พร้อมยืนยันว่าจะไม่มีสมาชิกพรรครีพับลิกันคนใดออกเสียงสนับสนุนข้อเสนอนี้

ทั้งนี้ การต่อต้านอย่างแข็งขันจากสมาชิกพรรครีพับลิกัน อาจทำให้ข้อเสนอนี้ไม่ผ่านวุฒิสภาได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ กำหนดว่า การที่รัฐบาลจะจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศต้องได้รับมติเห็นชอบ 2 ใน 3 จากวุฒิสมาชิก ซึ่งขณะนี้ทั้งสองพรรคมีเสียงเท่ากันที่ 50 ต่อ 50

นั่นทำให้เกิดคำถามว่า ในที่สุดแล้วข้อตกลงด้านภาษีนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ และจะส่งผลกระทบต่อบทบาทความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ บนเวทีโลกอย่างไร