เปลือกหอยนางรมอนุรักษ์สิ่งเเวดล้อม

Your browser doesn’t support HTML5

เปลือกหอยนางรมอนุรักษ์สิ่งเเวดล้อม

นักวิจัยใช้เปลือกหอยนางรมอนุรักษ์สิ่งเเวดล้อม

Your browser doesn’t support HTML5

เปลือกหอยนางรมอนุรักษ์สิ่งเเวดล้อม

หอยนางรมเป็นอาหารที่ขึ้นชื่อในเมนูอาหารของร้านไมค์ส เเคร็บเฮ้าส์ (Mike's Crab House) มานานตั้งเเต่ปี ค.ศ. 1958 หรือ 60 ปีที่แล้ว

ร้านอาหารทะเลเเห่งนี้ตั้งอยู่ที่เมืองริพวา (Riva) ในรัฐเเมรี่เเลนด์ เเละเป็นหนึ่งในร้านอาหารมากกว่า 330 เเห่งในรัฐเเมรี่เเลนด์ รัฐเวอร์จีเนียเเละในกรุงวอชิงตัน ที่เข้าร่วมโครงการเก็บเปลือกหอยนางรมเพื่อนำไปหมุนเวียนใช้ใหม่

โทนี่ เพียรา เจ้าของร้านกล่าวว่า การรีไซเคิ่ลเปลือกหอยนางรมมีผลดีล้วนๆ ต่อร้านอาหารเองเเละกับสิ่งเเวดล้อม เขาเข้าร่วมโครงการนี้เมื่อ 4 ปีที่เล้ว

เพียรา กล่าวว่า ก่อนที่จะเริ่มทำโครงการนี้ เปลือกหอยนางรมถูกทิ้งไปกับขยะทั่วไป เเต่ตอนนี้ทางโครงการ ออยสเตอร์ รีคัพเวอร์รี่ พาร์ทเนอร์ชิพ (Oyster Recovery Partnership) จะส่งคนมาเก็บเอาเปลือกหอยที่ทางร้านอาหารเเยกเก็บเอาไว้ให้สัปดาห์ละสองวัน

ร้านอาหารแห่งนี้เป็นหนึ่งในร้าน 10 แห่งที่เก็บเปลือกหอยให้โครงการนี้มากที่สุดในปีนี้เเละเมื่อปีที่แล้ว ทางร้านสามารถเก็บเปลือกหอยนางรมได้ถึงมากกว่า 822 บุชเชล และหนึ่งบุชเชลเท่ากับ 8 แกลลอน

โครงการรีไซเคิ่ลเปลือกหอยนางรมเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยมีร้านอาหารร่วมมือด้วย 22 ร้าน

เคริส คิง (Karis King) โฆษกหญิงแห่งโครงการนี้กล่าวว่า โครงการนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เธอกล่าวว่าโครงการได้รับการตอบรับอย่างดีมากเเละยังเติบโตไม่หยุด โดยขยายตัวจากที่เคยเป็นฝ่ายรุก ต้องไปเคาะประตูร้านทุกร้านเพื่อชักชวนให้เข้าร่วมโครงการ มาเป็นฝ่ายรับที่มีร้านอาหารติดต่อเข้ามาทุกวันเพื่อขอร่วมโครงการ

โทนี่ ไพร์ส ผู้จัดการฝ่ายจัดเก็บเปลือกหอยนางรมของโครงการ ทำหน้าที่ไปเก็บเปลือกหอยจากร้านอาหารเเละธุรกิจอาหารทะเลอื่นๆ เขาบอกว่า เปลือกหอยนางรมที่นำมายังโรงงาน ถูกล้าง ตากแดด ตากฝน ตากลม เเละทิ้งเอาไว้นานหนึ่งปีจนเเห้งไปเอง เเละเนื้อหอยหลุดออกจนหมด

หลังจากนั้น เปลือกหอยจะถูกล้างให้สะอาดด้วยการใช้น้ำอัดฉีดจนขาวโพลนต่างจากเปลือกหอยดิบที่เพิ่งเก็บมาได้ที่มีสีเทา เปลือกหอยที่ทำความสะอาดเเล้วจะถูกส่งต่อไปยังศูนย์เพื่อวิทยาศาสตร์สิ่งเเวดล้อม มหาวิทยาลัยเเห่งรัฐแมรี่เเลนด์ เพื่อนำไปเข้ากระบวนการต่อไป

สเตฟานนี่ อเล็กซานเดอร์ (Stephanie Alexander) ผู้จัดการศูนย์กล่าวว่า ทีมงานของเธอจะนำลูกหอยนางรมที่เพาะเลี้ยงได้ในศูนย์ไปเกาะติดลงบนเปลือกหอยนางรมที่ผ่านการทำความสะอาดเเล้วเหล่านี้ ก่อนจะนำไปปล่อยลงในอ่าวเชสสะพีค เพื่อให้เติบโตขยายพันธุ์เพื่มจำนวนประชากรหอยนางรมในอ่าวเเห่งนี้ เธอกล่าวว่าหอยนางรมรุ่นใหม่ต่อๆ มา มีความสำคัญต่อสภาพที่ดีของอ่าวเชสสะพีค

อเล็กซานเดอร์ กล่าวว่า หอยนางรมเป็นตัวช่วยกรองน้ำให้สะอาด ทำหน้าที่เหมือนไตของอ่าวเชสสะพีค และยิ่งน้ำในอ่าวสะอาดมากขึ้นเท่าใด เเสงอาทิตย์ก็จะสามารถส่องลอดผ่านลงไปในน้ำได้ดีขึ้น ช่วยให้หญ้าใต้น้ำเติบโตเป็นที่อาศัยและหลบซ่อนของปูปลา ช่วยให้สัตว์น้ำรอดชีวิตไม่ถูกสัตว์อื่นกินเป็นอาหารเเละโตจนเเพร่พันธุ์ต่อไปได้ เขากล่าวว่าเ ปลือกหอยนางรมจะกลายเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำอื่นๆ มากมาย เเละทำหน้าที่เหมือนกับเเนวปะการังเทียมในอ่าวเชสสะพีคอีกด้วย

ความสำเร็จของโครงการนำเปลือกหอยนางรมไปหมุนเวียนใช้ใหม่นี้ช่วยกระตุ้นให้ร้านอาหารเข้าร่วมโครงการกันมากขึ้น เพราะมีผลดีต่ออ่าวเชสสะพีคเเละต่อคนที่ชอบกินหอยนางรม

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)