จีนจับมือ 14 ประเทศลงนามข้อตกลงการค้าเสรี RCEP - สหรัฐฯ ยังรอดูท่าที

Vietnamese Prime Minister Nguyen Xuan Phuc, left, applauds as Minister of Trade Tran Tuan Anh, right, holds up a signed document during a virtual signing ceremony of the Regional Comprehensive Economic Partnership, or RCEP, trade agreement in Hanoi.

Your browser doesn’t support HTML5

RCEP Signed

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน ตัวแทนของรัฐบาลจีนกับตัวแทนของประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนและประเทศคู่เจรจารวม 14 ประเทศ ลงนามในข้อตกลงการค้า RCEP ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดฉบับหนึ่งของโลก โดยครอบคลุมประชากรในภูมิภาคอินโดแปซิฟิคถึงกว่าสองพันล้านคน

สำนักข่าว AP และ นสพ. New York Times มีรายงานจากนักวิเคราะห์ที่มองว่าข้อตกลงการค้า RCEP นี้จะช่วยส่งเสริมบทบาทอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน และเป็นความหวังของกลุ่มประเทศย่านอินโดแปซิฟิคสำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงหลังโควิด-19 ได้

โดยหลังจากที่ใช้เวลาเจรจามาแปดปี จีนกับประเทศคู่ค้าอีก 14 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสมาคมอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ รวมทั้งออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ ได้ลงนามในข้อตกลงการค้าหุ้นส่วนความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคหรือ RCEP ในเมืองหลวงของแต่ละประเทศ

แม้อินเดียจะร่วมเจรจาข้อตกลง RCEP ตั้งแต่แรก แต่ได้ถอนตัวออกไปเมื่อเดือนกรกฎาคมนี้

RCEP ( Regional Comprehensive Economic Partnership)

ข้อตกลงนี้ครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและประชากรเกือบหนึ่งในสามของโลก ซึ่งนายกรัฐมนตรี ลี เค่อเฉียง ของจีน มีคำแถลงว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นชัยชนะของความร่วมมือแบบหลายฝ่ายหรือพหุภาคีและระบบการค้าเสรีด้วย

ข้อตกลง RCEP จะช่วยลดหรือยกเลิกภาษีขาเข้าสำหรับสินค้าบางอย่างที่มีการค้ากันอยู่ แต่ยังเปิดโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ ยังคงใช้ภาษีขาเข้ากับภาคการผลิตที่เห็นว่าสำคัญหรือมีความละเอียดอ่อนสำหรับตนได้ รวมทั้งยังจะมีการใช้กฎเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดสินค้าหรือ rules of origin สำหรับสินค้าที่ผลิตในภูมิภาคที่จะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า

แต่ข้อตกลง RCEP จะไม่มีผลกระทบอย่างสำคัญในเรื่องงานบริการบางอย่าง เช่น งานกฎหมายและงานบัญชี รวมทั้งไม่ได้มีกฎเกณฑ์อย่างเข้มงวดเกี่ยวกับการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิด้านแรงงาน การดูแลด้านสิ่งแวดล้อม หรือการจำกัดการให้เงินอุดหนุนแก่วิสาหกิจของรัฐแต่อย่างใด

คุณแมรี เลิฟลี นักวิจัยอาวุโสของสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ Peterson Institute ในกรุงวอชิงตัน บอกว่าข้อกำหนดของข้อตกลงการค้า RCEP ที่ลดอุปสรรคกีดกันด้านการค้าในภูมิภาคนี้ จะช่วยกระตุ้นบริษัทระดับโลกซึ่งพยายามเลี่ยงผลกระทบจากนโยบายการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ให้ยังทำธุรกิจในเอเชียต่อไป เพราะกำแพงภาษีในกลุ่มประเทศอินโดแปซิฟิกซึ่งอยู่ในระดับต่ำจะช่วยเพิ่มคุณค่าของการลงทุนในภูมิภาคนี้

ส่วนคุณกาเรท เลเทอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้านเอเชียของบริษัท Capital Economics ก็ชี้ว่า ข้อตกลง RCEP นี้เปรียบเสมือนความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่สำหรับจีนเพราะนอกจากจะมีตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคจากจำนวนประชากรกว่า 1,300 ล้านคนแล้ว จีนยังสามารถแสดงตัวว่าเป็นผู้สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศและความร่วมมือแบบพหุภาคี รวมทั้งต่อต้านลัทธิปกป้องผลประโยชน์ด้านการค้าเฉพาะตน และจะสามารถก้าวเข้ามามีบทบาทอิทธิพลทางเศรษฐกิจมากขึ้นในภูมิภาคนี้ของโลกด้วย

การลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี RCEP ซึ่งเป็นผลจากการเจรจาระหว่างจีนกับสมาคมอาเซียนและประเทศคู่เจรจาอีกสี่ประเทศนี้ มีขึ้นราวสี่ปีหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศนโยบาย America First และถอนสหรัฐฯ ออกจากการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี TPP เดิมซึ่งสหรัฐฯ เป็นแกนนำอยู่ โดยสหรัฐฯ ได้หันไปเน้นเรื่องการเจรจาทำความตกลงด้านการค้าแบบรายประเทศหรือทวิภาคีแทน

เรื่องนี้ก็ทำให้เกิดคำถามว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ของโจ ไบเดน จะมีท่าทีอย่างไร เพราะหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศถอนตัวจากการเจรจาข้อตกลง TPP แล้วประเทศคู่เจรจาที่เหลืออยู่ 11 ประเทศก็ได้เดินหน้าต่อและเปลี่ยนชื่อข้อตกลงเป็น CPTPP แทน

แต่นักวิเคราะห์บางคน เช่น คุณไมเคิล โจนาธาน กรีน แห่งศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศหรือ CSIS ตั้งข้อสังเกตว่า ประธานาธิบดีไบเดนคงจะไม่รีบเร่งเรื่องการกลับเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค หรือยกเลิกมาตรการลงโทษทางการค้าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ใช้กับจีน แต่อาจใช้ความร่วมมือในลักษณะอื่นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐในภูมิภาคนี้แทน

ถึงกระนั้นก็ตาม คุณเจฟฟรี วิลสัน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ Perth USAsia Center ก็ระบุไว้ในรายงานสำหรับ Asia Society ว่า ถึงแม้ข้อตกลง RCEP นี้จะไม่มีข้อกำหนดอย่างเข้มงวดเรื่องแรงงานด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพย์สินทางปัญญา หรือบังคับให้ประเทศสมาชิกต้องเปิดภาคเศรษฐกิจบางส่วนของตนเพื่อรับการแข่งขันจากภายนอกก็ตาม แต่ RCEP ก็มีกฎเกณฑ์ที่จะช่วยเอื้อต่อการทำธุรกิจและการลงทุนในภูมิภาคดังกล่าว และน่าจะเป็นกรอบและกลไกซึ่งเป็นที่ต้องการของประเทศต่าง ๆ ในย่านอินโดแปซิฟิก สำหรับความพยายามฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงหลังโควิด-19 ได้