นักวิทย์พบแนวปะการังเก่าแก่หายากในชายฝั่งตาฮิติ

This handout picture taken on December 12, 2021 by French Photographer Alexis Rosenfeld shows a newly-discovered reef of giant rose-shaped corals at a depth of over 30 meters off Tahiti, in French Polynesia. -

Your browser doesn’t support HTML5

Rare Pristine Coral Reef Found Off Tahiti Coast


ทีมนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศสในเฟรนช์โปลินีเซีย เผยการค้นพบแนวปะการังเก่าแก่ ซึ่งมีรูปทรงคล้ายกับดอกกุหลาบขนาดยักษ์ที่ซ้อนกันหลายดอก บริเวณชายฝั่งของเกาะตาฮิติในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้

ปะการังนี้ถือเป็นหนึ่งในแนวปะการังขนาดใหญ่ที่สุดในระดับความลึกที่มากกว่าปกติซึ่งอยู่ในสภาพที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผิดธรรมชาติและไม่ถูกทำลายโดยกิจกรรมของมนุษย์ในปัจจุบัน

เลทิเทีย เฮดูอิน นักวิจัยจากศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศสในเฟรนช์โปลินีเซีย เป็นผู้ค้นพบแนวปะการังนี้ ระหว่างมาดำน้ำพักผ่อนกับชมรมดำน้ำท้องถิ่นเมื่อหลายเดือนก่อน และเปิดเผยกับเอพีว่า ครั้งแรกที่เธอได้เห็น เธอคิดว่าต้องศึกษาแนวปะการังนี้แน่นอน จากความพิเศษในตัวปะการังที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์แข็งแรง และไม่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ หรือกระบวนการที่ปะการังมีสีซีดจางลง หลังจากสูญเสียสาหร่ายขนาดเล็ก ซึ่งดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันภายในเนื้อเยื่อของปะการัง เมื่อปี ค.ศ. 2019

ยิ่งไปกว่านั้น เฮดูอิน เพิ่มเติมด้วยว่า แนวปะการังนี้ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากเหตุภูเขาไฟใต้น้ำปะทุในตองกา ซึ่งทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิในแถบแปซิฟิกด้วยเช่นกัน

ปะการังถือเป็นสัตว์น้ำขนาดเล็กชนิดหนึ่งแต่ตอนนี้แนวปะการังทั่วโลกกำลังร่อยหรอลงจากปัญหาการประมงมากเกินไปและปัญหามลภาวะต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผิดธรรมชาติยังเป็นอันตรายต่อปะการังที่มีความเปราะบาง โดยเฉพาะในบริเวณใกล้เคียงกับที่พบแนวปะการังเก่าแก่หายากล่าสุดนี้ด้วย

รายงาน Global Coral Reef Monitoring Project เมื่อปี ค.ศ. 2020 พบว่า ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2009-2018 ราว 14% ของแนวปะการังทั่วโลกต้องล้มตายไป เนื่องมาจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรงซึ่งเป็นผลมาจากอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรที่อุ่นขึ้น

แต่สำหรับแนวปะการังที่ได้รับการค้นพบล่าสุดนี้มีความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร ได้รับการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเมื่อปลายปีที่แล้วระหว่างโครงการสำรวจใต้น้ำที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การยูเนสโก ซึ่งแนวปะการังนี้แตกต่างจากปะการังส่วนใหญ่ในโลกที่ถูกค้นพบบริเวณน้ำตื้น เพราะปะการังนี้อาศัยอยู่ในบริเวณน้ำลึกประมาณ 35-70 เมตร

ภารกิจการสำรวจแนวปะการังนี้มีความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะนักประดาน้ำจะต้องดำดิ่งลึกลงไป และถ้ายิ่งต้องลงไปลึกเท่าไหร่เวลาที่จะอยู่ใต้น้ำได้อย่างปลอดภัยก็จะลดลงตามไปด้วย นักประดาน้ำจึงสามารถใช้เวลาศึกษาและสำรวจในช่วงสั้นๆ เท่านั้น โดยได้ใช้เวลารวมราว 200 ชั่วโมงโดยอาศัยถังอากาศชนิดพิเศษเพื่อศึกษาแนวปะการังนี้ ผ่านการถ่ายภาพ การวัดสัดส่วน และเก็บตัวอย่างของปะการังขึ้นมาศึกษา

มาร์ค อีคิน อดีตเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ หรือ โนอา (NOAA) ให้ความเห็นว่า แนวปะการังนี้อยู่ในจุดที่นักวิจัยหลายคนไม่ได้ใช้เวลาในการศึกษามากนัก และว่าเราอาจจะค้นพบแนวปะการังลักษณะที่ใหญ่กว่านี้ได้มากขึ้นเมื่อมีเทคโนโลยีสำหรับพื้นที่ใต้ทะเลเหล่านี้

จูเลียน บาร์บีเร หัวหน้าฝ่ายนโยบายทางทะเลและฝ่ายประสานงานระดับภูมิภาคขององค์การยูเนสโก ยอมรับว่า เรายังมีข้อมูลเกี่ยวกับแนวปะการังนี้ไม่มากนัก และยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก

เฮดูอิน นักวิจัยและผู้ค้นพบแนวปะการังนี้เป็นครั้งแรก หวังว่าการวิจัยนี้จะช่วยให้ทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าใจวิถีที่แนวปะการังมีความทนทานต่อภาวะโลกร้อนและแรงกดดันจากกิจกรรมของมนุษย์ รวมทั้งเข้าใจถึงบทบาทของแนวปะการังน้ำลึกที่มีผลต่อระบบนิเวศในมหาสมุทรได้ ซึ่งทีมวิจัยเตรียมลงพื้นที่ศึกษาแนวปะการังนี้ต่อไปในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

  • ที่มา: เอพี