สารพัดคำถามถึงโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์ 

People wearing face masks to protect against the spread of the coronavirus walk though a shopping street Thursday, Dec. 31, 2020, in Tokyo. On the New Year's Eve, the shopping street is crowded by last minute shoppers who look for ingredients for …

มีคำถามเกิดขึ้นมามากมายหลังมีข่าวการกลายพันธุ์ของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เริ่มพบในอังกฤษเป็นที่แรก และเริ่มพบในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ตามมา ทั้งคำถามที่ว่า ไวรัสตัวใหม่จะระบาดได้ง่ายกว่าเดิมหรือไม่? ไวรัสนี้จะทำให้ผู้คนป่วยหนักกว่าเดิมหรือไม่? วัคซีนกับการรักษาที่มีอยู่จะรับมือไวรัสตัวใหม่ได้หรือไม่?

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การที่ผู้คนจะวิตกกังวลถึงไวรัสกลายพันธุ์ใหม่เป็นเรื่องที่มีเหตุผล แต่ก็ไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินเหตุ

ความกังวลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงก่อนวันคริสต์มาส เมื่อนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ กล่าวว่าไวรัส่นี้อาจระบาดได้ง่ายกว่า และได้ระบาดอย่างรวดเร็วไปทั่วอังกฤษ ต่อมาในวันอังคารของสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม ทางการรัฐโคโลราโดก็ระบุว่าพบเชื้อไวรัสใหม่นี้ และต่อมาในวันพุธ ก็พบผู้ติดเชื้อไวรัสตัวใหม่นี้ในรัฐแคลิฟอร์เนียเช่นกัน

สำนักข่าว The Associated Press รวบรวมคำถามและคำตอบที่เรารู้เกี่ยวกับไวรัสกลายพันธุ์ใหม่จนถึงขณะนี้ไว้ดังนี้

คำถาม: ไวรัสที่กลายพันธุ์นี้มาจากไหน?
คำตอบ: มีการพบไวรัสกลายพันธุ์แบบใหม่ๆ มาตั้งแต่ช่วงที่พบไวรัสครั้งแรกในจีนเมื่อเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา ไวรัสมักกลายพันธุ์หรือมีพัฒนาการขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ขยายพันธุ์และระบาดไปยังผู้คน

ดร. ฟิลิป แลนดริแกน ผู้อำนวยการโครงการอนามัยโลกของมหาวิทยาลัยบอสตัน และอดีตนักวิทยาศาสตร์ประจำศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของไวรัสที่กลายพันธุ์ เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวอักษรเพียงหนึ่งหรือสองตัวในรหัสพันธุกรรม และไม่ส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อการก่อโรคมากนัก แต่จะน่าวิตกมากกว่าถ้าไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนที่พื้นผิวทำให้สามารถหลบเลี่ยงยาหรือภูมิคุ้มกันได้

คำถาม: ไวรัสที่กลายพันธุ์รูปแบบหนึ่ง จะกลายเป็นไวรัสที่ระบาดหนักกว่าไวรัสกลายพันธุ์รูปแบบอื่นได้อย่างไร?
คำตอบ: เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้ หากไวรัสกลายพันธุ์รูปแบบหนึ่งเริ่มระบาดอย่างหนักในพื้นที่ใด โดยเฉพาะหากมีการทำกิจกรรมในชุมชนที่กระตุ้นให้เกิดการระบาดมากขึ้น

เหตุการณ์ดังกล่าวยังเกิดขึ้นได้เช่นกัน หากการกลายพันธุ์ของไวรัสทำให้ไวรัสแข็งแกร่งขึ้น เช่น ทำให้ไวรัสระบาดได้ง่ายกว่าไวรัสรูปแบบอื่นที่ระบาดอยู่

นักวิทยาศาสตร์กำลังหาทางยืนยันอยู่ว่า ไวรัสรูปแบบใหม่ที่พบในอังกฤษระบาดได้ง่ายกว่าเดิมจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เริ่มมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าไวรัสนี้ระบาดได้ง่ายขึ้น โดย ดร. แลนดริแกนอธิบายว่า ไวรัสกลายพันธุ์รูปแบบใหม่นี้เคลื่อนตัวได้เร็วกว่าไวรัสรูปแบบอื่น ทำให้ระบาดไปยังผู้คนได้ไวกว่า

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่า ไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ที่พบในอังกฤษนี้พบครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน นอกจากนี้ ยังพบไวรัสกลายพันธุ์อีกรูปแบบหนึ่งในแอฟริกาใต้ด้วยเช่นกัน

United Kingdom, An electronic sign displays information as the British government imposes a stricter tiered set of restrictions

คำถาม: ไวรัสกลายพันธุ์รูปแบบใหม่ที่พบในอังกฤษน่ากังวลอย่างไร?
คำตอบ: ไวรัสรูปแบบใหม่นี้มีการกลายพันธุ์มากเกือบ 24 จุด โดยแปดจุดเป็นการกลายพันธุ์บนผิวโปรตีนที่ไวรัสใช้ยึดเกาะกับเซลล์มนุษย์ โดยวัคซีนและแอนติบอดีจะทำงานพุ่งเป้าไปที่ผนังโปรตีนนี้เอง

ดร.ราวิ กุปตา ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัส ของมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ระบุว่า ผลการศึกษาชี้เห็นว่าไวรัสกลายพันธุ์ใหม่นี้อาจระบาดได้ง่ายกว่าไวรัสตัวเดิมที่พบในอังกฤษสองเท่า อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาของ ดร. กุปตา ยังไม่ได้รับการทบทวนหรือตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ แม้จะถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ที่นักวิทยาศาสตร์ใช้เผยแพร่เรื่องพัฒนาการเกี่ยวกับไวรัสก็ตาม

คำถาม: ไวรัสแบบใหม่นี้ทำให้ผู้คนป่วยหนักขึ้น หรือมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้นหรือไม่?
คำตอบ: ดร. แลนดริแกนกล่าวว่า แม้จะยังไม่มีหลักฐานว่าความกังวลดังกล่าวเป็นจริง แต่ก็เป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง โดยเราอาจได้ทราบในเร็ววันว่าไวรัสตัวนี้ทำให้คนป่วยหนักขึ้นหรือไม่ เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อไวรัสรูปแบบใหม่นี้มากขึ้น

มาเรีย แวน เคิร์กฮอฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดของ WHO ระบุว่า ข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันบ่งบอกว่า ไวรัสตัวใหม่ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอาการหรือความสาหัสของโรค

คำถาม: เราจะรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ใหม่นี้อย่างไร?
คำตอบ: กรณีผู้ติดเชื้อไวรัสในอังกฤษทำให้เกิดความกังวลว่าการกลายพันธุ์ของไวรัสอาจส่งผลต่อประสิทธิผลของยาที่ใช้สร้างแอนติบอดีเพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสแพร่เชื้อมายังเซลล์ร่างกาย โดยแวน เคิร์กฮอฟ กล่าวว่า ยังคงมีการศึกษาถึงปฏิริยาของแอนติบอดีกับไวรัสกลายพันธุ์ใหม่นี้อยู่

บริษัทยาอีไล ลิลลี ระบุว่า ผลการทดลองในห้องปฏิบัติการแสดงให้เห็นว่า ยาของทางบริษัทยังมีประสิทธิผลต่อโรคจากไวรัสรูปแบบใหม่

FILE PHOTO: A pharmacist fills a syringe with the Pfizer-BioNTech coronavirus disease (COVID-19) vaccine at Indiana University Health, Methodist Hospital in Indianapolis, Indiana, U.S., December 16, 2020. REUTERS/Bryan Woolston



คำถาม: วัคซีนที่มีอยู่จะได้ผลต่อไวรัสรูปแบบใหม่ไหม?

คำตอบ: นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันจะยังคงมีประสิทธิผลต่อไวรัสรูปแบบใหม่ แม้จะยังคงต้องมีการยืนยันข้อสังเกตดังกล่าวก็ตาม เมื่อวันพุธ ทางการอังกฤษย้ำว่า ยังไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าไวรัสรูปแบบใหม่ส่งผลต่อประสิทธิผลของวัคซีน

นักวิทยาศาสตร์หลายคนระบุว่า นอกจากวัคซีนจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ผลิตแอนติบอดีเพื่อป้องกันไวรัสเฉพาะตัวแล้ว วัคซีนยังเร่งให้เกิดการตอบสนองของภูมิคุ้มกันโดยรวมด้วย ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงคาดหวังว่าวัคซีนที่มีอยู่จะต้านไวรัสรูปแบบใหม่ได้

คำถาม: เราควรทำอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงการติดไวรัสกลายพันธุ์ใหม่?
คำตอบ: ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขระบุว่า เราควรทำตามคำแนะนำในการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ รักษาระยะห่างทางสังคม และหลีกเลี่ยงสถานที่ๆ มีผู้คนหนาแน่น

ดร. เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO ระบุว่า เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องลดการระบาดของไวรัส เนื่องจากหากเราปล่อยให้ไวรัสระบาดได้มากขึ้น ไวรัสกลายพันธุ์รูปแบบใหม่ก็จะมีได้มากขึ้นด้วย