รัสเซียอนุมัติ 'วัคซีนต้านโควิด' เป็นประเทศเเรก ท่ามกลางคำถามเรื่องความปลอดภัย

Russian President Vladimir Putin attends a cabinet meeting at the Novo-Ogaryovo residence outside Moscow, Aug. 11, 2020. Putin says that a coronavirus vaccine developed in the country has been registered for use.

ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน กล่าวว่ารัสเซียได้กลายเป็นประเทศเเรกที่อนุมัติวัคซีนต้านโควิด-19 ได้อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนการอ้างของผู้นำรัสเซียว่าวัคซีนดังกล่าวใช้ได้อย่างปลอดภัยกับมนุษย์

ประธานาธิบดีปูติน ประกาศข่าวนี้ ระหว่างการถ่ายทอดสดการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันอังคาร

เขากล่าวว่า วัคซีนที่ว่านี้ ซึ่งพัฒนาโดยสถาบันกามาเลยา (Gamaleya Institute) ที่กรุงมอสโก "ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่คงที่ได้"

ผู้นำรัสเซียกล่าวด้วยว่าวัคซีนได้ผ่านการตรวจสอบที่จำเป็นทุกขั้นตอนแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่ามีความปลอดภัย พร้อมบอกว่าบุตรสาวของตนได้รับวัคซีนในช่วงการทดสอบระยะเเรกด้วยเช่นกัน โดยเธอมีไข้เล็กน้อยในวันเเรก แต่ต่อมาอุณหภูมิของร่างกายกลับมาสู่ระดับปกติ

Your browser doesn’t support HTML5

รัสเซียอนุมัติ 'วัคซีนต้านโควิด' เป็นประเทศเเรก ท่ามกลางความกังวล

แผนการผลิตวัคซีนสำหรับการใช้ในปริมาณมาก ถูกตั้งชื่อว่าโครงการ Sputnik V ตามชื่อของดาวเทียมของรัสเซียในยุคสหภาพโซเวียต ในปี ค.ศ. 1957 ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงเเรกของโลกที่ถูกส่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศสำเร็จ

ภายใต้โครงการวัคซีน Sputnik V คาดว่าจะมีการเริ่มต้นผลิตในเดือนหน้า และจะมีวัคซีนใช้สำหรับประชากรจำนวนมากต้นเดือนตุลาคม

เจ้าหน้าที่รัสเซียเคยกล่าวว่า ประชากรกลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีน ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่การแพทย์ ครู-อาจารย์ และผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีโครงการพัฒนาวัคซีนทั้งสิ้นกว่า 100 สูตร แม้รัสเซียประกาศความสำเร็จในวันอังคาร แต่ องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า การทดลองของรัสเซียยังไม่อยู่ในกลุ่มที่พัฒนาถึง 'เฟส 3' หรือขั้นตอนทดลองกับมนุษย์ในกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ ซึ่งตามปกติจะใช้ผู้ทดลองหลายพันคน และระยะเวลาศึกษาผลหลายเดือน ก่อนการผลิตในปริมาณมากสำหรับประชากรโดยทั่วไป

นักวิทยาศาสตร์ในประเทศต่างๆ รวมถึงในรัสเซียเอง ตั้งคำถามต่อการจดทะเบียนวัคซีนก่อนการทดลองเฟส 3 สิ้นสุดลง

ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกล่าวว่าการรีบใช้วัคซีนอาจเป็นอันตรายต่อผู้รับยา อาจสร้างความไม่เชื่อมั่นต่อวัคซีนในอนาคต และอาจทำให้เกิดความรู้สึกอย่างผิดๆ ว่าสถานการณ์ปลอดภัยแล้ว