Your browser doesn’t support HTML5
พิธีเปิดแผ่นป้ายจารึกเพื่อบันทึกเรื่องราวการเสด็จถึงรัฐแมสซาชูเซทส์เป็นครั้งแรก ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ พระบรมราชชนก เมื่อ วันที่ 27 สิงหาคม พุทธศักราช 2459 ณ สถานที่ซึ่งเคยเป็นโรงแรมที่ประทับแห่งแรก เมื่อ 100 ปีก่อน บริเวณริมชายฝั่งมหาสุมทรแอตแลนติค ที่เมืองกลอสเตอร์ เมืองพักตากอากาศและชุมชนชาวประมง ฝั่งตะวันออกของแมสซาชูเซทส์ มีความหมายสำคัญต่อชาวไทยและชาวอเมริกันที่เดินทางไปร่วมงาน
Your browser doesn’t support HTML5
เพราะนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมพระเกียรติ ‘สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดล’ ที่ชาวชุมชนไทยในรัฐแมทซาชูเซทส์ โดยมูลนิธิสถานที่พระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือ The King of Thailand Birthplace Foundation หรือ KTBF ร่วมกับทางการเมืองกลอสเตอร์ จัดกิจกรรมร่วมรำลึกเก็บรักษาประวัติศาสตร์สำคัญเมื่อศตวรรษก่อนให้ยั่งยืนต่อไปแล้ว ยังสะท้อนถึงมิตรภาพและความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่าง 2 ประเทศ
Valerie Gilman สมาชิกสภาเมืองกลอสเตอร์ บอกว่า ชาวเมืองกลอสเตอร์ มีความภาคภูมิใจที่พระองค์เสด็จมาประทับที่นี่เป็นที่แรก และทรงพระเกษมสำราญในทุกครั้งของการเสด็จมาประทับอีกหลายครั้งหลังจากนั้น
เธอบอกด้วยว่า มีความปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณในสิ่งที่พระองค์ทรงทำหลายๆด้าน ทั้งการสานความสัมพันธ์ระหว่างไทยสหรัฐ และด้านการสาธารณสุขรวมทั้งถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่พระองค์ทรงเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์อันแสนวิเศษของชาวเมืองกลอสเตอร์
นอกจากที่เมืองกลอสเตอร์แล้วในช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองวาระ 100 ปีการเสด็จถึงรัฐแมสซาชูเซสท์ ทางคณะแพทยศาสตร์และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ร่วมกับมูลนิธิ KTBF จัดการประชุมเสวนาเชิงวิชาการด้วยการรวบรวมและสะท้อนพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงเป็นผู้วางรากฐานวงการสาธารณสุขและการแพทย์ของไทย โดยมีบุคลากรชาวไทยจากองค์กรด้านการแพทย์ในอเมริกา และมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยถึง 4 แห่ง คือมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ส่งตัวแทนมาร่วมงานและนำเสนอความก้าวหน้าทางการแพทย์ของไทย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภัทร อัยรักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอ ไทย เกี่ยวกับการเดินทางมาครั้งนี้ ว่า มีการนำเสนอผลงานที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ได้ยึดถือพระปณิธานของพระองค์โดยเฉพาะปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ทุกคนจะยึดถือประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง
เช่นเดียวกับศาสตราจารย์คลีนิค นพ.อุดม คชินทร อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เดินทางไปร่วมการจัดงาน บอกว่า เป็นความโชคดีในหลายๆด้าน ที่สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดล เสด็จมาศึกษาที่แมสซาชูเซทส์ พระองค์ยังได้ทรงพบกับสมเด็จย่า ก่อนที่จะมีพิธีภิเษกและมีพระโอรสที่มีพระประสูติกาลที่นครแห่งนี้ ซึ่งเป็นสิ่งพิเศษ ที่ยิ่งทำให้นครแห่งนี้เหมือนเป็นสถานที่สำคัญ เพราะว่า ประเทศสหรัฐอเมริกา นั้นไม่เคยมีกษัตริย์ และการมีกษัตริย์มีพระประสูติกาลที่นี่ จึงเป็นสิ่งที่ชาวอเมริกันหลายคนภาคภูมิใจ
ขณะที่ นายแพทย์ Scott Podolsky จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด บอกว่า การได้เห็นผู้คนได้รับแรงบันดาลใจจากพระองค์ท่าน ในการช่วยและยกระดับการแพทย์และสาธารณสุขในเมืองไทยและในเอเชียนั้นถือเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมาก
การเสด็จรัฐแมสซาชูเซทส์เพื่อทรงศึกษาด้านการแพทย์ ที่มหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด ในนครเคมบริดจ์ของ ที่‘สมเด็จฯเจ้าฟ้ามหิดล’ นั้น ไม่เพียงจะทรงมีส่วนยกระดับและพัฒนาวงการสาธารณสุขและการแพทย์ของไทยในเวลาต่อมาแล้วยังเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้รัฐแมสซาชูเซทส์ โดยเฉพาะนครเคมบริดจ์ มีความเกี่ยวเนื่องและผูกพันกับชาวไทยอย่างแนบแน่น ในฐานะ ‘นครแห่งพระราชสมภพ’ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงประสูติที่โรงพยาบาลเมาท์ออร์เบิร์น เมื่อปีพุทธศักราช 2470 อีกด้วย