การเสด็จมาถึงแมสซาชูเซทส์ เมื่อ 100 ปีก่อน ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ที่ ‘สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ พระบรมราชชนก’ ทรงมีบทบาทในการนำความรู้กลับไปพัฒนาและปรับปรุงด้านกิจการด้านการแพทย์และการสาธารณสุขของไทยในเวลาต่อมา
ชลธนี แก้วโรจน์ ประธานมูลนิธิสถานที่พระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือ The King of Thailand Birthplace Foundation ที่รัฐแมสซาชูเซตส์ ในฐานะผู้ริเริ่มและผู้ประสานการจัดงานในครั้งนี้ ให้สัมภาษณ์กับวีโอเอภาคภาษาไทยว่า รูปแบบการจัดงานนอกจากจะเน้นย้ำถึงวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของการเสด็จมาศึกษาต่อที่รัฐแมสซาชูเซทส์ของพระองค์แล้ว ยังร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด จัดงานประชุมเสวนาเชิงวิชาการที่สะท้อนพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน
พระองค์ทรงเป็นผู้วางรากฐานวงการสาธารณสุขและการแพทย์ของไทย โดยมีบุคลากรชาวไทยจากองค์กรด้านการแพทย์ในอเมริกา และมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยถึง 4 แห่ง คือมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ส่งตัวแทนมาร่วมงานในสัปดาห์นี้
ประธานมูลนิธิ KTBF บอกว่า การจัดงานในครั้งนี้ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากชาวอเมริกัน โดยเฉพาะคณะผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ที่มีความภูมิใจและยกย่องในพระปรีชาสามารถของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในฐานะศิษย์เก่า ที่ทรงกลับไปยกระดับการพัฒนาทางการแพทย์ในเมืองไทยจนก้าวหน้ามาจนปัจจุบัน
ขณะที่ ศาสตราจารย์คลีนิค นพ.อุดม คชินทร อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ท่ีเดินทางไปร่วมการจัดงานเสวนาที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด บอกว่า ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ได้ตามรอยเสด็จและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ที่ทรงสร้างคุโณปการอย่างมหาศาลในการวางรากฐานแพทย์แผนปัจจุบันของไทย
เช่นเดียวกับทางการเมืองกลอสเตอร์ รัฐแมสซาชูเซทส์ ซึ่งเป็นเมืองแรกที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดล เสด็จยังสหรัฐอเมริกา ก็เตรียมจัดงานเฉลิมฉลองเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่าน ณ อาคารซึ่งเคยเป็นโรงแรมที่พระองค์ท่านทรงประทับในคืนแรกเมื่อ 100 ปีก่อนอีกด้วย
นอกจากนี้ยังจะมีการเปิดเส้นทางตามรอยเบื้องพระยุคลบาตรของพระองค์ท่านเส้นทางใหม่ในเมืองแห่งนี้ หลังพบข้อมูลว่ามีสถานที่หลายแห่งที่มีความเกี่ยวพันทางประวัติศาสตร์กับเชื้อพระวงศ์ของไทย ณ นครแห่งนี้มาตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา
การเสด็จทรงศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ในนครเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซทส์ ของสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในครั้งนั้น ไม่เพียงจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาวงการสาธารณสุขและการแพทย์ของไทยแล้ว ยังทำให้นครแห่งนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับชาวไทยอย่างแนบแน่น เพราะได้กลายเป็น 'นครแห่งพระราชสมภพ' ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงประสูติที่โรงพยาบาลเมาท์ออร์เบิร์น ในนครเคมบริดจ์ แห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2470 ระหว่างที่สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลพระบรมราชชนกทรงศึกษาในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด