ผลการศึกษายืนยัน 'นักศึกษานอนเต็ม' ทำคะแนนดีกว่า 'นักศึกษาอดนอน'

FILE - A graduate from Columbia University's School of Engineering sleeps during the university's commencement ceremony in New York, May 16, 2012.

Your browser doesn’t support HTML5

Student Sleep

อาจารย์มหาวิทยาลัยในรัฐเท็กซัสของอเมริกา เสนอไอเดียการ “เพิ่มคะแนน” ให้กับนักศึกษาที่นอนหลับมากขึ้น เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีในระยะยาว

สำหรับนักเรียนนักศึกษา เพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนและเกรดอันงดงาม ก็ต้องพากเพียรศึกษาเล่าเรียนทั้งในห้องเรียนและที่บ้าน หรือบางคนก็พยายามจะเป็น “อัจฉริยะข้ามคืน” ด้วยการอ่านทบทวนตำรากันแบบไม่หลับไม่นอน

สำหรับอาจารย์ไมเคิล สคัลลิน (Michael Scullin) อาจารย์ด้านจิตวิทยาและระบบประสาท จากมหาวิทยาลัย Baylor University ในรัฐเท็กซัส ผู้มุ่งเน้นการสอนบทเรียนเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิต ที่เป็นผลมาจากการขาดการนอนหลับ พบผลเสียของการขาดการพักผ่อนว่า ผู้ที่ขาดการพักผ่อนเพียงพอ จะส่งผลให้ขาดสมาธิ มีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์ และเพิ่มความเสี่ยงของโรคต่างๆ ได้

ในตอนแรกนักศึกษา ก็ดูจะเข้าอกเข้าใจกับบทเรียนเรื่องการนอนหลับ แต่กลับทำตามไม่ได้สักที

อาจารย์ไมเคิล จึงกลับมาด้วยแนวคิดใหม่ที่กระตุ้นให้นักศึกษาพักผ่อนมากขึ้นกว่าเดิม ด้วยการเพิ่มคะแนนในช่วงสอบปลายภาคให้กับนักศึกษา ซึ่งเป็นการสอบตัดสินอนาคตทางการเรียนวิชาของเขา

โดยกำหนดให้นักศึกษานอนหลับอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวันเป็นเวลา 5 วันก่อนการสอบปลายภาค ซึ่งอาจารย์จะเพิ่มคะแนนให้ 2-3 คะแนนสำหรับการนอนหลับที่มากขึ้น ปรากฏว่าวิธีนี้ได้ผลเกินคาด

FILE - A student sleeps in the hallway of Hall Memorial Building on the campus of Gallaudet University in Washington, Oct. 6, 2006.

อาจารย์ไมเคิล พบว่า นักศึกษาที่นอนหลับมากขึ้นจะสามารถทำคะแนนได้ดีขึ้น แม้จะเป็นชั้นเรียนที่แตกต่างกันก็ตาม โดยพบว่า นักศึกษา 8 คน จาก 18 คนในชั้นเรียนที่เขาทำสอนที่เลือกนอนหลับมากขึ้น และสามารถทำคะแนนสอบได้ดีกว่าผู้ที่ไม่ได้นอนหลับเพียงพอราว 5 คะแนนทีเดียว ซึ่งให้ผลเดียวกันในชั้นเรียนอื่นๆ อีกทั้งคะแนนที่ทำได้มาจากผลงานของนักศึกษาล้วนๆ ก่อนที่จะมีการเพิ่มคะแนนพิเศษให้

ด้านนายแดเนียล เบสเซเซ่น จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด ผู้ศึกษาเรื่องการนอนหลับ สนับสนุนการศึกษาเรื่องการนอนต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา โดยบอกว่า ผู้เรียนที่พยายามเป็นอัจฉริยะข้ามคืน หรือที่เรียกว่า cram ผู้ที่อ่านหนังสือทบทวนตำราหามรุ่งหามค่ำเพื่อการสอบปลายภาค มีแนวโน้มที่จะได้ผลกระทบที่ไม่ดีนัก

แม้ว่าข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC แนะให้คนในวัยผู้ใหญ่นอนหลับอย่างน้อยวันละ 7 ชั่วโมง เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง แต่กลับมีรายงานว่าตอนนี้ชาวอเมริกันนอนหลับน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันแล้ว

ทางนายแดเนียล และอาจารย์ไมเคิล ให้คำแนะนำถึงการนอนหลับที่ดีต่อสุขภาพว่า

  • พ่อแม่ผู้ปกครองควรเป็นแบบอย่างในพฤติกรรมการนอนหลับที่ดีแก่เด็ก
  • หลีกเลี่ยงการมองหรือใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า อย่าง โทรทัศน์ หรือสมาร์ทโฟน ก่อนนอน
  • งดดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน 6 ชั่วโมงก่อนนอน
  • พยายามปรับเวลานอนให้ตรงกันและเท่ากันทุกวัน
  • หากยังไม่สามารถนอนหลับได้หลังจากเอนกายลงบนเตียงภายใน 10 นาที ขอให้ลุกขึ้นมาเขียนสิ่งที่กำลังคิดวนอยู่ในสมองลงไปให้ เพื่อจัดการเรื่องราวรบกวนหัวใจก่อนเข้านอน