ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิทยาศาสตร์ศึกษารูม่านตาและคลื่นสมองเพื่อวัดระดับ 'ความเจ็บปวด'


APTOPIX Measuring Pain
APTOPIX Measuring Pain
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:04 0:00

สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐฯ ประมาณว่ามีคนอเมริกันราว 25 ล้านคนที่มีปัญหาเรื่องความเจ็บปวดจากอาการทางร่างกายอยู่ทุกวัน และตัวเลขการใช้ยาแก้ปวดทั้งตามใบสั่งแพทย์ รวมทั้งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพก็สูงขึ้นอย่างน่าตกใจด้วย

เท่าที่ผ่านมา แพทย์มักพยายามขอให้คนไข้ระบุหรือให้ค่าความเจ็บปวดเป็นตัวเลข 1 ถึง 10 แต่เรื่องนี้ก็มักจะมีปัญหาเพราะความเจ็บปวดนั้นเป็นนามธรรมที่แต่ละคนมักให้ค่าและมีประสบการณ์ไม่เหมือนกัน

ตัวอย่างเช่น พ่อแม่หรือพยาบาลอาจสังเกตความเจ็บปวดของทารกจากลักษณะการเคลื่อนไหวหรือเสียงร้องได้ แต่สำหรับผู้ใหญ่นั้นบางคนอาจจะมีระดับความทนต่อความเจ็บปวดไม่เหมือนกัน ดังนั้นตัวเลขความเจ็บปวดระดับห้าหรือเจ็ดของแต่ละคนจึงอาจไม่เท่ากันด้วย

อย่างไรก็ตาม แพทย์ได้พยายามวัดค่าความเจ็บปวด เช่น การปวดข้อปวดกระดูก ด้วยการสังเกตรูม่านตา เพราะดวงตาซึ่งเปรียบเสมือนหน้าต่างของหัวใจนั้น อาจใช้เป็นช่องทางบ่งบอกระดับความเจ็บปวดได้ คือถ้ายิ่งปวดมากรูม่านตาก็จะขยายใหญ่ตามไปด้วย

ส่วนนักวิทยาศาสตร์ด้านระบบประสาทก็พยายามศึกษาความเปลี่ยนแปลงในสมองเพื่อวัดค่าความเจ็บปวดเช่นกัน โดยนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Harvard และ MIT พบว่า การใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI ตรวจสมองได้พบว่าพื้นที่บางส่วนของสมองมีการทำงานหรือมีคลื่นสมองเพิ่มมากขึ้นเวลาที่ผู้ป่วยมีความเจ็บปวด

และนักวิจัยของสถาบันสุขภาพแห่งชาติก็กำลังศึกษาว่า biomarkers หรือตัวบ่งชี้ทางชีวภาพบางอย่าง ช่วยบอกถึงความสามารถที่บางคนสามารถฟื้นตัวจากอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรง ในขณะที่บางคนต้องมีปัญหาในระยะยาว ได้อย่างไร

โดยหวังว่า หากสามารถทำความเข้าใจและวัดประเมินค่าความเจ็บปวดเป็นตัวเลขได้แล้ว โอกาสที่จะพัฒนายาและวิธีบำบัดความเจ็บปวดต่างๆ รวมทั้งการประเมินประสิทธิผลของวิธีแก้ปวดเหล่านี้ก็จะทำได้ง่าย และเป็นผลดีขึ้นเช่นกัน

XS
SM
MD
LG