Your browser doesn’t support HTML5
สังเวียนการเมืองสหรัฐฯ เข้าสู่ช่วงคึกคักขึ้นอีกระดับหนึ่ง เมื่อตัวแทนผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีทั้งสองคน คือโดนัลด์ ทรัมป์ จากรีพับลิกัน และโจ ไบเดน จากเดโมเเครต เดินหน้าหาเสียงหลังการประชุมใหญ่ของแต่พรรค และทั้งคู่มีกำหนดขึ้นโต้วาทีออกโทรทัศน์รอบแรกในวันที่ 29 กันยายน
ในช่วงราวหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ และ โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีสมัยนายบารัค โอบามาเป็นผู้นำประเทศ ออกแสดงวิสัยทัศน์ ในรัฐที่มีคะเเนนคู่คี่กันคือ วิสคอนซิน เพนซิลเวเนีย และนอร์ธแคโรไลนา
รองศาสตราจารย์ เจนนิเฟอร์ เมอร์เซกา ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารแห่งมหาวิทยาลัย Texas A&M กล่าวว่าการดีเบตของทรัมป์และไบเดน คงจะดุเดือดแน่นอน เธอกล่าวว่าสไตล์ของทั้งสอง คือต่าง “มีความเป็นนักสู้”
นักวิชาการผู้นี้ระบุว่า หากพิจารณาถึงการโต้วาทีของทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ใน ค.ศ. 2016 แล้ว เขาเเสดงให้เห็นถึงความสามารถในการ “สวนหมัด” ระหว่างดีเบต
แนวทางหนึ่งที่โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้คือการโจมตีความเป็นตัวบุคคลของคู่ต่อสู้มากกว่าโจมตีเนื้อหาจากวาทะของฝ่ายตรงข้าม และเขากล้าที่จะล้อและก่อการรังควาญด้วยวาจา ร.ศ. เมอร์เซกากล่าว
หากเปรียบเทียบกับโจ ไบเดน อาจารย์ผู้นี้กล่าวว่า ไบเดน เคยเเสดงมือในการดีเบต ที่ทำให้เห็นว่า น่าจะใช้วิธีวางตัวในจุดยืนอย่างมั่นคง และหากมองถึงการโต้วาทีในการเเข่งเป็นรองประธานาธิบดีเมื่อ 8 ปีก่อน สไตล์ของไบเดนมีจุดเหมือนกับทรัมป์ อยู่บ้าง
ร.ศ. เมอร์เซกา กล่าวว่าดูเหมือนว่า โจ ไบเดน เคยล้อและหัวเราะเยาะคู่ต่อสู้ในตอนนั้น ซึ่งก็คือ พอล ไรอันจากพรรครีพับลิกัน เช่นกัน แต่คงไม่ถึงกับรุนเเรงในระดับเดียวกับโดนัลด์ ทรัมป์ ในเรื่องนี้
ทั้งนี้การจัดโต้วาทีออกโทรทัศน์ระหว่างผู้ลงเเข่งขันเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เกิดขึ้นครั้งเเรก เมื่อปี ค.ศ. 1960 หรือเมื่อ 60 ปี ก่อน และเมื่อกลับมาเริ่มจัดอีกครั้งในปี ค.ศ. 1976 รูปแบบของงานจะค่อนข้างเหมือนๆ กันทุกปี
จอห์น ค้อช อาจารย์ด้านการเมืองและผู้เชี่ยวชาญเรื่องการโต้วาทีทางการเมืองแห่งมหาวิทยาลัยเเวนเดอร์บิลท์ กล่าวว่า ดีเบตในการเลือกตั้งประธานาธิบดี เปรียบเหมือนการจัดแถลงข่าวร่วม ซึ่งสองฝ่ายผลัดกันเเสดงทัศนะต่อคำถามที่ถูกหยิบยกขึ้นมา
เขาเสนอว่าควรมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ มาเป็นลักษณะที่ ผู้แข่งขัน รับชุดคำถามจากผู้เชี่ยวชาญตามสาขาต่างๆ แทนที่เป็นการถามของพิธีกร จากนั้นผู้เเข่งขันสามารถใช้เวลา 30 นาทีหารือกับทีมที่ปรึกษา จึงค่อยผลัดกันเเสดงทัศนะต่อประชาชน
อาจารย์ ค้อชกล่าวว่า แนวทางนี้น่าจะช่วย สะท้อนถึงสถานการณ์จริงเมื่อ ประธานาธิบดีต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ที่เข้ามา ผู้นำประเทศต้องตัดสินใจว่าจะมีจุดยืนเช่นใดผ่านการรับข้อมูลจากคณะที่ปรึกษา จากนั้นก็จะต้องสามารถให้เหตุผลสนับสนุนต่อจุดยืนนั้นกับประชาชน
ร.ศ. เมอร์เซกา แห่งมหาวิทยาลัย Texas A&M กล่าวว่า โอกาสที่ประชาชนได้เห็นผู้เเข่งขันเป็นประธานาธิบดี โต้อภิปรายกัน ช่วยในการพิจารณาถึง เนื้อหาสาระของนโยบาย และท่าทาง รวมถึงการเเสดงอารมณ์ในขณะที่พวกเขานำเสนอจุดยืน
ที่สำคัญอาจารย์ เมอร์เซกา บอกว่าการดีเบตยังเปิดโอกาสให้คู่แข่งขัน เเสดงทัศนะแย้งฝ่ายตรงข้ามได้ด้วย
คำถามที่น่าสนใจที่ตามมาคือการโต้อภิปรายมีผลต่อการตัดสินใจลงคะเเนนของประชาชนต่อผู้ลงเเข่งเลือกตั้งหรือไม่
เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ชาวอเมริกันมากถึง 84 ล้านคนดูการโต้วาทีรอบแรก ในศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี ระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และฮิลลารี คลินตัน
อย่างไรก็ตาม จอห์น ค้อช แห่งมหาวิทยาลัยเเวนเดอร์บิลท์ กล่าวว่า งานวิจัยเรื่องผลต่อการตัดสินใจของคนจากการชมดีเบต ชี้ให้เห็นว่า ดีเบตมีผลน้อยต่อการเปลี่ยนใจประชาชนที่ทราบเเล้วว่าตนจะเลือกใคร
เขากล่าวว่าการดูโต้อภิปราย ช่วยให้คนได้ยินในสิ่งที่เชื่ออยู่แล้ว และยืนยันการมีความรู้สึกร่วมกับบุคคลที่ตนสนับสนุน
สำนักวิจัย Pew Research ระบุว่า ร้อยละ 10 ของผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งในปี ค.ศ. 2016 กล่าวว่าพวกเขาไม่ได้ตัดสินใจเลือกใครจนกระทั่งดูดีเบตจบ
ด้วยเหตุนี้ ร.ศ. เมอร์เซกา กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่การเมืองอเมริกันมีการเบ่งขั้วรุนแรงขนาดนี้ และว่า ทางหนึ่งที่จะให้การโต้อภิปรายมีผลต่อการตัดสินใจตามหน้าที่ของมันที่ควรจะเป็น คือประชาชนควรฟังผู้ขึ้นเวทีดีเบตด้วยใจที่เปิดกว้าง