5 ประเด็นสำคัญสะท้อนการระดมทุนหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

Vice President Joe Biden President Donald Trump

Your browser doesn’t support HTML5

Election Fundraising


ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ และคู่ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต โจ ไบเดน กำลังอยู่ในทิศทางที่อาจสร้างสถิติใหม่ว่าด้วยการระดมทุนสำหรับค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีที่สูงเป็นประวัติการณ์ ก่อนที่จะถึงการเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ย. นี้

แม้ ปธน.ทรัมป์ เริ่มการระดมทุนมาก่อนนายไบเดนหลายเดือน แต่ยอดเงินบริจาคที่นายไบเดนได้รับในเดือน มิ.ย. กลับสูงกว่าของ ปธน.ทรัมป์ ราว 10 ล้านดอลลาร์ และสูงกว่ายอดเงินที่ทรัมป์ได้สองเดือนติดต่อกัน

ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

การหาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคในสหรัฐฯ นั้นต้องใช้เงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ ตั้งแต่เริ่มประกาศตัวลงชิงตำแหน่งไปจนถึงวันเลือกตั้งซึ่งใช้เวลานานกว่าหนึ่งปี

การระดมเงินทุนบริจาคเพื่อการหาเสียงของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นั้น ถือเป็นความท้าทายสำคัญของผู้ลงสมัครและองค์กรพันธมิตรของพรรคการเมืองต่าง ๆ เนื่องจากค่าใช้จ่ายสำหรับการหาเสียงเลือกตั้งนั้นสูงขึ้นทุก ๆ สี่ปี

ค่าใช้จ่ายดังกล่าวมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000% ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 จนถึงปี 2012 และคาดกันว่าการเลือกตั้งในปี 2020 นี้น่าจะสร้างสถิติใหม่เป็นการเลือกตั้งที่แพงที่สุดเท่าที่เคยมีมา แม้การหาเสียงจะถูกจำกัดเพราะการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส

ประวัติศาสตร์ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1788-1789 เมื่อคราวที่ จอร์จ วอชิงตัน ได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ และเป็นเพียงประเทศเล็ก ๆ นั้น ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งแทบจะเป็นศูนย์

แต่ในยุคดิจิตัลในปัจจุบัน ผู้สมัครแต่ละคนพยายามรณรงค์ในสื่อทุกช่องทางเพื่อให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 150 ล้านคนสนับสนุนตน รวมทั้งทางอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย วิทยุโทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งค่าโฆษณาตามสื่อเหล่านี้ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่มากที่สุดในการหาเสียงของผู้สมัคร

นอกจากค่าโฆษณาแล้ว ค่าจ้างเจ้าหน้าที่คณะหาเสียง การจัดทำผลสำรวจ ค่าเช่าสำนักงาน การจัดงานระดมทุนหรือกิจกรรมต่าง ๆ ก็ถือเป็นค่าใช้จ่ายส่วนสำคัญเช่นกัน

เงินส่วนนี้มาจากไหน

ผู้สมัครแต่ละคนได้รับเงินบริจาคโดยตรงจากคนทั่วไป โดยคนอเมริกันแต่ละคนสามารถบริจาคเงินได้ไม่เกิน $2,800 ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง นอกจากนี้ ผู้สมัครอาจสามารถระดมทุนก้อนใหญ่ได้ด้วยการจัดกิจกรรมร่วมกับคณะกรรมการแห่งชาติของพรรคนั้น ๆ หรืออาจได้ประโยชน์จากกลุ่มทางการเมืองที่เรียกว่า PACs ซึ่งไม่ขึ้นกับองค์กรใดและสามารถให้เงินสนับสนุนผู้สมัครได้อย่างไม่จำกัดสำหรับใช้ในการโฆษณาหาเสียงให้แก่ผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง

การใช้จ่ายของภาคธุรกิจเพื่อผลทางการเมืองนั้นมักจะได้รับการปกป้องการตรวจสอบโดยภาคประชาชน และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังปี ค.ศ. 2010 เมื่อศาลสูงสหรัฐฯ มีคำตัดสินว่่า "เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง" ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ นั้น หมายรวมถึงค่าใช้จ่ายทางการเมืองของบริษัทธุรกิจและสหภาพแรงงานต่าง ๆ ด้วย

ใช้เงินเยอะ หมายถึงชัยชนะ ใช่หรือไม่?

ผู้สมัครที่ใช้เงินในการหาเสียงมากกว่าคู่แข่ง มิได้หมายความว่าจะได้รับชัยชนะเสมอไป ตัวอย่างเช่น เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ฮิลลารี คลินตัน ใช้เงินในการหาเสียงมากกว่า โดนัลด์ ทรัมป์ แต่ก็พ่ายแพ้ไป และเมื่อปี 1996 บ๊อบ โดล จากพรรครีพับลิกัน ก็แพ้ให้กับ บิล คลินตัน แม้ใช้เงินหาเสียงมากกว่าเช่นกัน

ในทางกลับกัน ระหว่างปี 2000 - 2012 ผู้สมัครที่ระดมทุนได้มากกว่าคู่แข่งต่างได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุกคน

ผลกระทบจากการระบาดของโคโรนาไวรัส

การระบาดของโควิด-19 แม้จะไม่ได้ทำให้ยอดเงินบริจาคให้แก่ผู้สมัครทั้งสองคน คือ โดนัลด์ ทรัมป์ และ โจ ไบเดน ลดลง แต่ก็ส่งผลให้การใช้จ่ายเงินในส่วนนี้เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ ในขณะที่ ปธน.ทรัมป์ ยังคงเน้นการหาเสียงในรูปแบบเดิม คือการจัดการปราศรัยหาเสียงกับกลุ่มผู้สนับสนุนตามรัฐต่าง ๆ ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต ไบเดน กลับใช้เงินในการโฆษณาทางสื่อสังคมออนไลน์เป็นหลัก โดยเฉพาะ Facebook

คาดกันว่าครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีใช้เงินไปกับการโฆษณาทางดิจิตัลมากกว่าโทรทัศน์และวิทยุ โดยไบเดนสามารถระดมเงินได้เกือบ 11 ล้านดอลลาร์ผ่านองค์กรระดมทุนทางดิจิตัลที่อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า จัดตั้งขึ้น