นักวิทยาศาสตร์ศึกษาบทบาทของ 'กุ้งฝอย' ต่อมหาสมุทรทั่วโลก

Close-up of krill. (Photo credit: grandfathered)

Your browser doesn’t support HTML5

The Power of Krill


ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) กำลังศึกษาทำความเข้าใจจังหวะของชีวิตใต้ท้องทะเล โดยศึกษาการเดินทางในเเนวตั้งของกุ้งฝอย ว่ามีบทบาทต่อการผสมตัวของน้ำในมหาสมุทรอย่างไร

จอห์น ดาเบียรี วิศวกรแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า ทีมงานสนใจเป็นอย่างมากว่ามหาสมุทรมีระบบการทำงานอย่างไร เพราะมหาสมุทรมีบทบาทต่ออนาคตของโลก เป็นแหล่งเก็บกักเเก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ และแหล่งปลาที่เป็นอาหารของคนทั่วโลก

ด้วยความสนับสนุนจากมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ (the National Science Foundation) สองนักวิศวกร จอห์น ดาเบียรี (John Dabiri ) กับ อิซาเบล ฮัฟตัน (Isabel Houghton) ได้สร้างสภาพจำลองขึ้นเพื่อศึกษาลักษณะการเดินทางเเนวตั้งของกุ้งฝอย สัตว์ทะเลขนาดเล็ก โดยใช้ตัวเซ็นเซอร์เเละกล้องถ่ายภาพความเร็วสูงเพื่อติดตามดูการว่ายน้ำของกุ้งฝอยผ่านความลึกของทะเลในระดับต่างๆ ซึ่งมีความเข้มข้นของเกลือที่ต่างๆกัน

ทีมงานได้สร้างเเท็งค์น้ำที่มีกุ้งฝอยทะเลอยู่ เพื่อศึกษาในห้องทดลองว่าเกิดอะไรขึ้นในมหาสมุทร หากฝูงสัตว์ทะเลขนาดจิ๋วเหล่านี้ว่ายน้ำในเเนวตั้งผ่านระดับความลึกของทะเลที่เเตกต่างกัน เเละมีความเข้มข้นของเกลือที่ต่างกัน

จอห์น ดาเบียรี กล่าวว่า หากมีสัตว์ขนาดจิ๋วจำนวนล้านๆ ตัว ว่ายน้ำในเเนวตั้งในเวลาเดียวกัน ทีมงานเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ว่านี่จะทำให้เกิดแรงน้ำที่เคลื่อนตัวลงไปด้านล่างเพิ่มขึ้น

การทดลองของทีมนักวิจัยชี้ให้เห็นว่า เเรงถีบน้ำของฝูงกุ้งฝอยทำให้เกิดเเรงน้ำขึ้นใต้ทะเล ทีมงานพบว่าสัตว์ขนาดจิ๋วเหล่านี้มีบทบาทสำคัญมากอย่างน่าทึ่งในการทำให้น้ำทะเลผสมตัวกันในเเนวดิ่ง เเละยังอาจทำให้เกิดกระแสน้ำวนที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวกุ้งฝอยแต่ละตัวอย่างมาก

นักวิจัยชี้ว่า กุ้งฝอยว่ายน้ำเพียงตัวเดียวจะไม่มีผลกระทบอะไรต่อการเคลื่อนตัวของน้ำใต้ท้องทะเล เเต่หากกุ้งฝอยจำนวนหลายล้านถึงหลายล้านล้านตัว ว่ายน้ำขึ้นลงใต้ทะเลในเวลาเดียวกัน ผลกระทบต่อการผสมตัวของน้ำใต้ทะเลก็น่าจะเกิดขึ้นอย่างเเน่นอน

ดาเบียรี แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า ทีมงานพยายามทำความเข้าใจขั้นตอนต่างๆเ หล่านี้ ที่มีส่งผลต่อการไหลเวียนของน้ำในมหาสมุทร เพราะจะช่วยให้เราสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับสภาพภูมิอากาศโลกในอนาคต

และดูเหมือนว่า กุ้งฝอย สัตว์ทะเลขนาดจิ๋วนี้ มีบทบาทสำคัญต่อมหาสมุทรทั่วโลกมากกว่าที่เราคาดคิดเอาไว้ และคงไม่ผิดหากจะเรียกว่ากุ้งฝอยเป็นดาราแห่งท้องทะเล


(เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทย กรุงวอชิงตัน)