ผลการศึกษาคาดการณ์ว่า หากน้ำทะเลอุ่นขึ้นต่อไปในช่วง 50 -100 ปีข้างหน้า ก็จะเกิดพายุเฮอร์ริเคนเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยสองลูกต่อปี และนอกจากจะเกิดพายุเฮอร์ริเคนเพิ่มขึ้นเเล้ว พายุก็ยังมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเเละทำให้ฝนตกในปริมาณมากขึ้นด้วย
บรรดานักวิทยาศาสตร์รู้ดีว่าโลกอุ่นขึ้น เเละสามารถพูดได้อย่างมั่นใจว่ามนุษย์มีส่วนทำให้เกิดปัญหานี้ แต่นักวิทยาศาสตร์ได้เตือนมาตลอดว่า ไม่ควรโทษว่าการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศบางอย่างเป็นผลมาจากภูมิอากาศ โดยอธิบายว่าสภาพอากาศกับภูมิอากาศเป็นคนละเรื่องกัน
แต่ในปี ค.ศ. 2017 ที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นปีที่ผู้คนที่อาศัยตามเเนวชายฝั่งที่ติดกับมหาสมุทรเเอตเเลนติกเเละอ่าวเม็กซิโก เจอกับผลกระทบหนักจากพายุเฮอร์ริเคนรุนแรงหลายลูก
พายุเฮอร์ริเคนฮาร์วี่ (Harvey) ทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงตามพื้นที่ชายฝั่งของรัฐเท็กซัส เเละเมืองฮิวส์ตัน ส่วนเฮอร์ริเคนมาเรีย (Maria) ก็สร้างความเสียหายหนักเเก่เปอร์โตริโก
ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่สำนักงานสมุทรศาสตร์กับชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (National Oceanic and Atmospheric Administration) หรือ NOAA ได้เริ่มต้นศึกษาแถบน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกที่อยู่ในเขตร้อนที่อุ่นขึ้นใกล้กับจุดศูนย์สูตร โดยใช้แบบจำลองภูมิอากาศแบบใหม่
ฮีโร่ มูระกามิ (Hiro Murakami) ผู้ร่างผลการวิจัย กล่าวกับวีโอเอว่า เมื่อปีที่ผ่านมาน้ำในจุดนี้อุ่นขึ้นกว่าปกติ เเละแบบจำลองภูมิอากาศที่ใช้ในการศึกษาได้พยากรณ์ว่าจะเกิดพายุเฮอร์ริเคนที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกสองครั้ง เเละปรากฏว่าเกิดพายุเฮอร์ริเคนบ่อยกว่าเฉลี่ยถึงสองครั้งจริงๆ
มูระกามิกล่าวว่า สหรัฐฯ จะเจอกับสภาพอากาศเเบบนี้อีก เพราะเมื่อเเถบน้ำในมหาสมุทรแอตเเลนติกบริเวณนี้อุ่นขึ้นกว่าปกติ อย่างที่เกิดขึ้นในปี 2017 ที่ผ่านมา เขากล่าวว่าเมื่อโลกอุ่นขึ้น น้ำในจุดนี้ของมหาสมุทรแอตแลนติกจะอุ่นมากขึ้นกว่าเดิม เเละอุ่นขึ้นบ่อยครั้งกว่าเดิม
เมื่อปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ เจอกับพายุเฮอร์ริเคนลูกใหญ่ถึง 6 ลูกด้วยกัน เเต่ในอนาคตอาจจะเพิ่มเป็น 8 ลูก หากน้ำทะเลในมหาสมุทรแอตแลนติกยังอุ่นขึ้นแบบนี้
เขากล่าวว่า นี่เป็นข่าวร้ายสำหรับคนที่อาศัยใกล้กับชายฝั่งทะเ ลเเละสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่ต้องตระเตรียมความพร้อมเเละป้องกันประชาชนในพื้นที่ของตนจากพายุที่มีความรุนแรง
ทอม เดลเวิร์ธ (Tom Delworth) นักวิจัยอีกคนหนึ่งที่สำนักงาน NOAA ที่มีส่วนร่วมในการวิจัยกล่าวว่า แบบจำลองทางภูมิอากาศที่ทีมนักวิจัยใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นประโยชน์ เพราะนอกจากสามารถพยากรณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในฤดูนี้ เเต่ยังสามารถพยากรณ์ได้ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไรตั้งเเต่เดือนหน้าถึงอีก 100 ปีในอนาคต
เขากล่าวว่า ภายในปลายคริสต์ศตวรรษนี้ พายุเฮอร์ริเคนที่มีความแรงก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นไปจนถึงระดับ 4 เเละ 5
เดลเวิร์ธและมูระกามิ กล่าวว่า แบบจำลองภูมิอากาศที่ใช้ในการศึกษาอาจนำไปใช้ศึกษาพายุไต้ฝุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิกได้ เเละน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกก็ส่งผลคล้ายๆ กันต่อพื้นที่ต่างๆ ในภูมิภาค
นักวิจัยแห่งสำนักงาน NOAA ทั้งสองคนยอมรับว่า เเม้แบบจำลองภูมิอากาศที่ใช้ในการวิจัยสามารถพยากรณ์ได้อย่างถูกต้องว่าจะเกิดพายุเฮอร์ริเคนขึ้นในอาทิตย์หน้า ในเดือนหน้า ไปจนถึงคริสต์ศตวรรษหน้า
แต่แบบจำลองนี้ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าพายุจะเกิดขึ้นเมื่อไร เเละที่ไหน
เดลเวิร์ธ กล่าวว่า การพยากรณ์ที่แม่นยำจะมีประโยชน์มากแก่เจ้าหน้าที่กู้ภัย เพื่อเตรียมตัวรับมือกับฤดูพายุเฮอร์ริเคน
เขากล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์และเครื่องมือในการศึกษาวิจัยพัฒนาดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะช่วยให้การพยากรณ์อากาศดีขึ้นตามไปด้วย เพื่อให้เราสามารถเตรียมตัวรับมือกับพายุที่จะเกิดเพิ่มขึ้น รุนแรงขึ้น เพราะการเตรียมตัวล่วงหน้าช่วยป้องกันการสูญเสียทางชีวิต
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)