สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งคริสตจักรนิกายโรมันคาธอลิก หยิบยื่นเสียงของพระองค์ให้กับคณะประสานเสียง เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำโลกมีการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผิดธรรมชาติ ในเวทีประชุมกลุ่ม G-20 ที่กรุงโรม และประชุมสภาพภูมิอากาศโลก COP26 ของสหประชาชาติ ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสก็อตแลนด์
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ไม่เข้าร่วมเวทีประชุม COP26 ที่จะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน เนื่องจากภาวะสุขภาพ แต่ได้ส่งสาส์นว่าผู้นำโลกต้องให้ "ความหวังที่เป็นรูปธรรม" แก่คนรุ่นต่อไปว่าพวกเขากำลังดำเนินการตามขั้นตอนอย่างจำเป็นเร่งด่วน ท่ามกลางวิกฤตต่างๆ เหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นว่าการตัดสินใจไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป และช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ได้มอบโอกาสมากมาย ซึ่งเป็นโอกาสที่เราไม่อาจสูญเสียมันไปได้
ผู้นำกลุ่มประเทศจี-20 จะหยิบยกเรื่องปัญหาโลกร้อนเป็นหนึ่งในประเด็นหารือในเวทีนี้ ขณะที่ข้อมูลตามร่างแถลงการณ์ของผู้นำจี-20 ก่อนเวทีประชุมสภาพภูมิอากาศโลก COP26 ของสหประชาชาติ ที่สก็อตแลนด์ ระบุว่า ผู้นำกลุ่มจี-20 จะให้คำมั่นว่าจะดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามรายงานของรอยเตอร์
ทั้งนี้ ภายใต้ข้อตกลงกรุงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เมื่อปี 2015 ได้ตั้งเป้าเพื่อจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นกว่า 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม ภายในปี ค.ศ. 2050
เมื่อวันศุกร์ (29 ตุลาคม) นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า ทั่วโลกกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ภัยพิบัติทางสภาพอากาศ และผู้นำกลุ่มจี-20 ควรลงมือช่วยเหลือประเทศยากจนมากกว่านี้ ขณะที่เกรตา ธันเบิร์ก วัยรุ่นหญิงนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม ออกมาตำหนิบรรดานักการเมืองที่เอาแต่พูด และเรียกร้องให้บริษัทด้านการเงินรายใหญ่ถอนตัวจากการสนับสนุนการใช้พลังงานฟอสซิล
ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ หวังว่าจะบรรลุข้อตกลงในเวทีประชุมสภาพภูมิอากาศโลก COP26 ของสหประชาชาติ ที่สก็อตแลนด์ ที่ทางปธน.ไบเดน ต้องการส่งสัญญาณว่าสหรัฐฯ พร้อมกลับมาต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผิดธรรมชาติแล้ว
ขณะที่อังกฤษ ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุม COP26 พยายามผลักดันให้อังกฤษเป็นประเทศแรกของกลุ่มจี-20 ที่มีการกำหนดนโยบายเปิดเผยข้อมูลของบริษัทขนาดใหญ่ ในด้านความเสี่ยงที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนให้เป็นมาตรฐานโลก แต่บริษัทน้ำมันรายใหญ่ ที่ไม่เข้าร่วมเวทีประชุม COP26 ต่างระบุว่า มีเพียงรัฐบาลเท่านั้นที่สามารถควบคุมความต้องการเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำนักข่าวรอยเตอร์ อ้างถึงร่างแถลงการณ์ของกลุ่มประเทศจี-20 ซึ่งมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 80% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลก ที่ระบุว่า ประเทศสมาชิกรับทราบถึงเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2050
ผู้เชี่ยวชาญด้านโลกร้อนของสหประชาชาติ เห็นว่า เป้าหมายในปี 2050 นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจำกัดอุณหภูมิโลกให้ไม่สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่มีบางประเทศที่เชื่อว่าจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ อย่างกรณีของจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงสุดในโลก ได้กำหนดเป้าหมายที่ไกลกว่านั้น คือปี 2060
อีกทั้งในร่างแถลงการณ์เรื่องโลกร้อนของกลุ่มจี-20 ฉบับนี้ ยังมีกรอบเว้นว่างเรื่องวันที่ชัดเจนในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวในปี 2050 นั่นหมายถึง ยังคงต้องมีการหารือกันต่อไป
(ที่มา: รอยเตอร์)