Your browser doesn’t support HTML5
มนุษย์ยุคหินตัดสินใจตามอารมณ์ เช่น อารมณ์ความโกรธและกลัว โดยเฉพาะความเป็นศัตรูกับคนนอกกลุ่ม เหตุผลเป็นเรื่องรอง ขณะที่สัญชาตญาณเป็นแรงส่งหลักของพฤติกรรมของคนยุคดึกดำบรรพ์
เมื่อเวลาผ่านไป วิวัฒนาการมนุษย์ทำให้คนรู้จักใช้เหตุผลมากขึ้น แต่ดูเหมือนว่า เมื่อเป็นเรื่องการเมือง การตัดสินใจของเราเปิดทางให้สัญชาตญาณ ไม่ต่างจากคนยุคหิน
นั่นเป็นข้อสังเกตของนักเขียน Rick Shenkman เจ้าของหนังสือ Political Animals หรือ “สัตว์การเมือง” เขาบอกว่าสัญชาตญาณความกลัวของคนมีบทบาทอย่างมากในการตัดสินเลือกตัวแทนทางการเมือง
เขาอ้างถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ให้คนดูภาพหน้าคนที่ตนไม่รู้จักซึ่งสลับสับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว และลองวัดความสามารถของคนเหล่านั้นจากรูปที่เห็น
แน่นอนว่าในสถานการณ์เช่นนี้คนแทบไม่มีข้อมูลในการตัดสินใจ การวัดความสามารถจึงมาจากความรู้สึกเป็นหลัก ผลปรากฏว่าในบรรดารูปคนเหล่านั้นที่ถูกเลือกว่ามีความสามารถ ร้อยละ 70 คือคนที่เคยชนะการเลือกตั้งจริง
นักเขียน Rick Shenkman บอกว่าสมองของคนเราหลอกให้เราเชื่อว่าการตัดสินใจเกี่ยวกับผู้สมัคร ที่แม้ว่ามาจากข้อมูลที่น้อยนิด เหมือนกับว่าเรารู้จักคนเหล่านั้นดี
ปรากฏการณ์ในเวทีการเมืองสหรัฐฯ ขณะนี้ ที่มหาเศรษฐีโดนัลด์ ทรัมพ์ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
ในสายตาของคนอเมริกันจำนวนมาก นโยบายของโดนัลด์ ทรัมพ์และทัศนคติของเขาเป็นที่น่าชิงชัง จากที่เห็นคำพูดของทรัมพ์ที่มักดูถูกผู้อื่น นโยบายด้านคนต่างด้าวที่รุนแรง และคำโฆษณาความสำเร็จของตนเองอย่างเต็มที่
คุณ Rick Shenkman เจ้าของหนังสือ Political Animals บอกว่าพฤติกรรมผู้เลือกตั้งลักษณะนี้ เป็นไปตามทฤษฎีของเขาเรื่องการใช้สัญชาตญาณดิบของมนุษย์
เขาบอกว่าคนหลงเชื่อไปว่า การเห็นโดนัลด์ ทรัมพ์ออกโทรทัศน์ในรายการเรียลิตี้โชว์ของเขาก่อนหน้านี้หลายปี ทำให้ผู้ลงคะแนนเลือกตั้งรู้สึกว่ารู้จักมหาเศรษฐีผู้นี้ดี
นอกจากนั้นสัญชาตญาณความกลัวและโกรธคนนอกกลุ่มของมนุษย์ยุคหิน ก็สะท้อนในเหตุผลที่คนนิยมชอบทรัมพ์อย่างมาก
คนอเมริกันทั่วไปกังวลเรื่องการก่อการร้ายและการถูกแย่งโอกาสทำงานโดยแรงงานต่างชาติ ดังนั้นการหาเสียงด้วยนโยบายแรงๆ ในทั้งสองเรื่องโดยทรัมพ์จึงได้ผล
Rick Shenkman บอกว่าเมื่อเกิดความกลัวขึ้น คนใช้เหตุผลน้อยมาก โดยจะมองสถานการณ์จากมุมมองแคบๆ และเมื่อคนมีความเชื่อในบุคคลที่ตนต้องการเลือกแล้วจะเปลี่ยนใจยาก
เขาบอกว่าเมื่อมีข้อมูลใหม่ๆ เข้ามา สมองของคนจะปฏิเสธข้อมูลที่ทำให้ตนเปลี่ยนใจ เพราะการตัดข้อมูลที่ทำให้สับสนออกจากสมอง ช่วยให้เราสบายใจขึ้นและนั่นเป็นเหมือนรางวัลจากการปฏิเสธนั้น
อย่างไรก็ตามยังพอมีข่าวดีอยู่บ้างสำหรับผู้ที่ต้องการเห็นตัวแทนทางการเมืองที่มาจากที่ใช้เหตุผลลงคะแนนของประชาชน
Rick Shenkman บอกว่าขณะนี้คนรู้เท่าทันการตัดสินใจในการเลือกตั้งโดยใช้เหตุผลน้อย
เขากล่าวว่าเมื่อรู้สึกว่าตนเริ่มคิดวนเวียน ให้ลองเปิดใจกับประเด็นใหม่ๆ หรือพูดคุยกับคนกลุ่มใหม่ วิธีดังกล่าวอาจทำให้เราลดการพึ่งพาสัญชาตญาณและหันหาเหตุผลมากขึ้นที่คูหาเลือกตั้ง
(รายงานโดย Steve Baragona / เรียบเรียงโดย รัตพล อ่อนสนิท)