ปัญหาขยะพลาสติกทำลายสิ่งแวดล้อมโลก มีทางแก้ไขหรือไม่? อย่างไร?

A worker uses a rope to move through a pile of empty plastic bottles at a recycling workshop in Mumbai June 5, 2014.

Your browser doesn’t support HTML5

plastic

พลาสติกเป็นวัสดุที่แทรกซึมในทุกส่วนของชีวิตมนุษย์ในปัจจุบัน เฉพาะในสหรัฐ อุตสาหกรรมพลาสติกมีมูลค่าสูงถึง 374 พันล้านดอลล่าร์ ในขณะเดียวกัน พลาสติกกำลังสร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก

นอกจากจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปีนี้แล้ว บราซิลยังกำลังเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในสองปีข้างหน้าด้วย แต่ Mario Moscatelli นักชีววิทยาในบราซิล บอกว่ารัฐบาลจะต้องขบแก้ปัญหาเรื่องมลภาวะก่อนจะทำงานนี้ได้สำเร็จ โดยยกเรื่องขยะพลาสติกตามป่าชายเลนใกล้บริเวณที่จะมีการแข่งเรือใบ ใกล้ๆกับนคร Rio de Janiero มาเป็นตัวอย่าง

แต่เรื่องอย่างนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในบราซิลเท่านั้น ขวดหรือภาชนะพลาสติกถูกทิ้งเกลื่อนทุกที่ และถูกฝนหรือลมพัดพาไปสู่แม่น้ำลำธาร และล่องลอยอยู่ในมหาสมุทรหรือเกยตื้นตามหาดต่างๆทั่วโลกในที่สุด

พลาสติกไม่สูญสลายตัวไปเอง เพราะเป็นสารสังเคราะห์ แต่แตกกระจายออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย Nancy Wallace หัวหน้าโครงการขยะทะเลของสำนักงานมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐ (NOAA) บอกว่า สารเคมีจากพลาสติกรั่วไหลสู่ทะเล และสารเคมีที่มีอยู่แล้วในทะเล เช่น DDT จะเกาะติดกับพลาสติกที่สัตว์ทะเลโดยเฉพาะปลากลืนกินร่วมกับอาหาร หมายความว่าสารพิษเหล่านี้จะเคลื่อนตัวย้อนกลับขึ้นมาตามโซ่อาหารสู่มนุษย์ได้

เจ้าหน้าที่ของ NOAA ผู้นี้แนะนำวิธีต่างๆที่อาจช่วยแก้หรือบรรเทาปัญหานี้ได้ เช่น การใช้สิ่งของมากกว่าหนึ่งครั้งหรือ recycle ส่วนสิ่งของที่จะทิ้งก็ให้ทิ้งอย่างถูกต้องเหมาะสม

ในรายงานขององค์การสหประชาชาติที่เพิ่งเผยแพร่ในที่ประชุมเรื่องสิ่งแวดล้อมที่กรุง Nairobi ประเทศ Kenya ในสัปดาห์นี้ มีตัวเลขระบุมูลค่าความเสียหายจากพลาสติกต่อสิ่งแวดล้อมไว้สูงถึง 13 พันล้านดอลล่าร์

Richard Mattison ผู้บริหารบริษัท Trucost ซึ่งคำนวณตัวเลขนี้ออกมา เสนอแนะทางเลือกสำหรับการแก้ปัญหานี้ว่า เราสามารถใช้วัตถุดิบที่มีพื้นฐานทางชีวภาพแทนพลาสติก ลดการใช้พลังงานในการผลิตพลาสติก โดยการใช้แหล่งพลังงานที่ไม่มีวันหมดเพิ่มขึ้น และใช้ขวดและภาชนะพลาสติกซ้ำในครัวเรือนแทนการใช้ครั้งเดียวและทิ้งเลย เหล่านี้เป็นต้น

สหประชาชาติยังแนะนำให้บริษัทธุรกิจใช้มาตรวัด บริหารจัดการ และเปิดเผยข้อมูเกี่ยวกับการใช้และการทิ้งขยะพลาสติกให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ด้วย

Andrew Russell ผู้อำนวยการโครงการ Plastic Disclosure บอกว่า ที่มองเห็นคือโอกาสที่บริษัทธุรกิจจะประหยัดค่าใช้จ่าย มีความตระหนักและความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญทางด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชื่อเสียงของบริษัท หรือกฎเกณฑ์ควบคุม และเชื่อว่า การกำหนดมูลค่าใหม่ให้กับอุตสาหกรรมพลาสติกจะเป็นสิ่งจูงใจให้ช่วยกันรักษาความสะอาดให้กับภาวะแวดล้อมได้ แต่ย้ำไว้ด้วยว่า ทุกส่วนของสังคมจะต้องร่วมมือกันแก้ปัญหานี้