Your browser doesn’t support HTML5
นักวิจัยได้ค้นพบแบคทีเรียชนิดใหม่ที่สามารถกัดกินโพลียูรีเทน ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่ยากต่อการรีไซเคิลหรือทำลาย
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การค้นพบนี้อาจช่วยลดปริมาณพลาสติกที่ยากต่อการนำกลับมาใช้ใหม่ที่มีอยู่มากมาย ซึ่งล้วนไปสิ้นสุดในหลุมฝังกลบขยะของโลกจนก่อให้เกิดมลพิษในมหาสมุทร
คณะนักวิจัยจากศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อม Helmholtz Center for ที่เมือง Leipzig ประเทศเยอรมนีพบแบคทีเรียในดินสายพันธุ์ใหม่ ในพื้นที่ที่มีขยะพลาสติกจำนวนมาก โดยพบว่าแบคทีเรียดังกล่าวกำลังกัดกินโพลียูรีเทน ซึ่งเป็นสารที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในผลิตภัณฑ์ต่างๆ
นักวิจัยประเมินว่าในปีพ.ศ. 2558 มีการใช้โพลียูรีเทนผลิตพลาสติกในยุโรปถึง 3 ล้าน 5 แสนตัน
ทั้งนี้ ปัญหาหนึ่งในการรีไซเคิลโพลียูรีเทน คือการที่ต้องใช้พลังงานจำนวนมาก วัสดุพลาสติกจะไม่ยอมละลายเมื่อถูกความร้อน ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโพลียูรีเทนส่วนใหญ่จะไปจบที่หลุมฝังกลบขยะซึ่งสามารถปล่อยสารเคมีที่เป็นอันตรายออกมาได้
นอกจากนี้คณะนักวิจัยยังพบว่าแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Pseudomonas putida สามารถผลิตเอนไซม์ที่กัดกินโพลียูรีเทน ซึ่งจะช่วยทำลายวัสดุพลาสติกในสิ่งแวดล้อมได้
Hermann Heipieper ซึ่งช่วยเขียนรายงานฉบับนี้กล่าวในแถลงการณ์ว่าการค้นพบนี้ แสดงถึงย่างก้าวที่สำคัญในการนำผลิตภัณฑ์ที่ยากต่อการรีไซเคิล (โพลียูรีเทน) กลับมาใช้ใหม่
การวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการของสหภาพยุโรปที่พยายามค้นหาจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการค้นหาสิ่งมีชีวิตที่สามารถช่วยเปลี่ยนพลาสติกที่มีน้ำมันเป็นสารประกอบให้กลายเป็นสารที่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้
เมื่อปีพ.ศ. 2554 นักศึกษาของมหาวิทยาลัย Yale ได้ทำการทดลองที่คล้ายๆ กันนี้ โดยได้ค้นพบเชื้อราที่สามารถกัดกินพลาสติกโพลียูรีเทนได้ แม้ในที่ที่ไม่มีอากาศอย่างเช่นที่ด้านล่างของหลุมฝังกลบขยะ
ตั้งแต่นั้นมานักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้พบเชื้อราชนิดอื่นๆ ที่สามารถย่อยสลายโพลียูรีเทนได้ ในปีพ.ศ. 2560 คณะนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบเชื้อราที่สามารถกัดกินพลาสติกโดยการทำลายสารเคมีหลักที่เชื่อมพลาสติกเอาไว้ด้วยกัน
แต่การศึกษาของเยอรมันพบว่าแบคทีเรียที่กินพลาสติกนั้นสามารถควบคุมและผลิตสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมได้ง่าย นักวิจัยกล่าวว่าขั้นตอนต่อไปคือการหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอนไซม์ของแบคทีเรียที่สามารถย่อยสลายโพลียูรีเทนได้ แต่นักวิทยาศาสตร์บางคนไม่เห็นด้วย โดยชี้ว่าเอนไซม์ หรือจุลินทรีย์ในสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้น อาจเป็นอันตรายได้
นักวิทยาศาสตร์ Douglas Rader กล่าวว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอย่างมาก เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างพลาสติกกับระบบนิเวศทางทะเล ก่อนที่จะปล่อยแบคทีเรียที่กัดกินพลาสติกลงสู่มหาสมุทร
รายงานขององค์กร Plastic Oceans International ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า ในแต่ละปีมีพลาสติกมากกว่า 8 ล้านตันถูกโยนลงสู่มหาสมุทรของโลก และทุกๆ ปี ทั่วโลกผลิตพลาสติกราว 300 ล้านตัน แต่ครึ่งหนึ่งของพลาสติกเหล่านั้นใช้ได้เพียงแค่ 1 ครั้งเท่านั้น
ผลการศึกษาวิจัยนี้ ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Frontiers in Microbiology