เฉลยข้อข้องใจทำไม 14 มี.ค. จึงเป็นวันพิเศษของคนชอบคณิตศาสตร์

นักเรียนจัดเเถวเป็นเครื่องหมาย "Pi" ตัวอักษรกรีก

ในวันที่ 14 มีนาคม คนที่ชอบคณิตศาสตร์ทั่วโลก ตั้งแต่นักเรียนนักศึกษา ไปจนถึงนักวิทยาศาสตร์อวกาศ ฉลองวันที่เรียกว่า 'พายเดย์' (Pi Day) ซึ่งมาจากสัญลักษณ์ π ตามอักษรกรีก ที่จะเห็นได้ในสูตรเรขาคณิตที่เกี่ยวกับวงกลม

ที่เรียกวันที่ 14 มีนาคม ว่า Pi Day ก็เพราะ ในการเขียนย่อวันนี้เป็นตัวเลข 3/14 จะเห็นเลขเหล่านี้ในค่า 3.14 ที่เป็นเลขสามตัวเเรกของค่า π ซึ่งหลักทศนิยมไม่มีจุดสิ้นสุด

คนที่คุ้นกับสูตรหาเส้นรอบวงของวงกลม ก็จะทราบว่า ต้องใช้ค่า π คูณด้วยความยาวเส้นผ่านศูนย์กลาง

เนื่องจาก π เกี่ยวกับวงกลม คนที่ตื่นเต้นกับวันนี้จึงใช้ขนมพายเป็นอาหารแห่งการเฉลิมฉลอง ตั้งเเต่ที่เป็นพายขนมหวาน พายอาหารคาว หรือพิซซ่าทรงกลมก็มี

การเริ่มยกให้ 14 มีนาคม เป็น Pi Day มีขึ้นในปี 1988 เมื่อนักฟิสิกส์ แลร์รี ชอว์ ฉลองวันนี้ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ Exploratorium ในนครซานฟรานซิสโก

ต่อมาในปี 2009 รัฐสภาอเมริกันกำหนดให้วันที่ 14 มีนาคม เป็นวันสำคัญ โดยหวังว่าจะทำให้คนสนใจคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มากขึ้น

หากใครสงสัยว่าเหตุใด อักษรกรีก π จึงถูกนำมาใช้ในสูตรวงกลมตั้งเเต่เเรก คำตอบก็คือ เป็นอักษรที่สะกดตัวเเรกของคำที่เเปลว่า ขอบเขต และค่า Pi ก็เป็นสัดส่วนของเส้นรอบวงกลมต่อเส้นผ่านศูนย์กลาง

ที่องค์การนาซ่าของสหรัฐฯ ค่า Pi ถูกใช้ในการคำนวณไม่เว้นวัน ตั้งเเต่การศึกษาวงโคจร การหาตำแหน่งดาว และใช้เกี่ยวกับการสื่อสารของยานอวกาศ

หนึ่งในกิจกรรมฉลองวัน Pi Day ก็เกิดขึ้นที่นาซ่าเช่นกัน โดยมีการจัดงานเล่นเกมส์ โดยเฉพาะประเภทปริศนาลับสมอง

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์

ที่พลาดไม่ได้ที่ผู้ฉลอง Pi Day จะต้องนึกถึง อีกเรื่องหนึ่งคือ วันที่ 14 มีนาคม ยังตรงกับวันเกิด ในปี 1879 ของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ บุคคลในวงการวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุด

ขณะที่ นักฟิสิกส์ชื่อก้องโลก สตีเฟน ฮอว์คิง ก็เสียชีวิตในวันที่ 14 มีนาคม เช่นกัน เมื่อ 6 ปีก่อนด้วยวัย 76 ปี

  • ที่มา: เอพี